"อานันท์" ติงมาตรการประชานิยมไม่ช่วยให้ศก.ขยายตัวยั่งยืน แนะต้องปฏิรูปแบบองค์รวม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 17, 2015 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "สู่บริบทใหม่ของประเทศด้วยธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย" ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 58 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างช่วงรอยต่อที่สำคัญทางการเมือง และยากที่จะคาดเดาได้ว่าเมื่อผ่านรอยต่อนี้ไปแล้ว บรรทัดฐานใหม่(New Normal) ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร แต่เพื่อช่วยให้เราสามารถผ่านปัญหาหรือวิกฤติต่างๆ และสามารถหาทางออกให้แก่ปัญหาได้จึงขอเสนอองค์ประกอบ 4 ประการที่ขาดไม่ได้ในบรรทัดฐานใหม่ของเส้นทางการพัฒนาประเทศไทยที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

ประการแรก New Normal ของประเทศไทยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึง เพราะจากที่ผ่านมามักจะมุ่งเป้าไปที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก ให้ความสำคัญแค่ตัวเลข โดยละเลยมิติด้านคุณภาพและการแบ่งสรรผลประโยชน์และรายได้ให้ทั่วถึง นอกจากนี้จะได้เห็นแล้วว่าการขยายตัวแบบอัดฉีดมาตรการประชานิยมที่ไร้วินัยการคลังนั้นเป็นการขยายตัวที่ไม่ยั่งยืน และสร้างปัญหาตามมามากมายในภายหลัง เช่น โครงการรถคันแรก โครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาด

"นี่เป็นเพียงตัวอย่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบชั่วครู่ที่หลายรัฐบาล ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศใช้เพื่อให้ได้คะแนนนิยมระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว" นายอานันท์ กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนในระยะยาวต้องมุ่งเน้นการเสริมโครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งด้วยการเพิ่มขีดความสามารถที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐหรือราชการ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การพัฒนาแรงงาน รวมทั้งยกระดับการศึกษาและงานวิจัย นอกจากนี้เพื่อให้การพัฒนามีความยั่งยืน ต้องมีการแบ่งสรรผลประโยชน์ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน จึงจะก่อให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคมและความชอบธรรมของระบบเศรษฐกิจการเมืองในที่สุด

ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงต้องนำไปสู่สังคมที่เปิดและมีส่วนร่วมของคนในสังคม ซึ่งนอกจากการกระจายรายได้อย่างเสมอภาคแล้ว ต้องให้สิทธิเสรีภาพ และโอกาสที่เท่าเทียมกันแก่ทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้ง แต่ต้องรวมถึงการให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเรียกร้องของทุกฝ่ายด้วย ระบบการปกครองโดยเสียงข้างมากไม่ได้หมายถึงการปกครองลักษณะผู้ชนะกินรวบ หรือการที่ผู้ชนะสามารถดำเนินการทุกอย่างได้ตามต้องการ ถ้าจะให้ประชาธิปไตยคงอยู่ในระยะยาวและเกิดความสงบสุขต้องมีขันติธรรม นั่นคือ การยอมรับความหลากหลายในสังคม กลุ่มเสียงข้างน้อยต้องได้รับผลประโยชน์ที่เที่ยงธรรมจากกระบวนการเลือกตั้ง ฝ่ายที่ชนะเลือกตั้งต้องตระหนักว่าเป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ

"การเป็นสังคมเปิดและมีส่วนร่วม ต้องดำเนินควบคู่ไปกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง...เราต้องหัดเดินหน้าไปด้วยกันบนพื้นฐานของความแตกต่างโดยไม่สร้างความแตกแยก หรือก่อให้เกิดการเกลียดชัง ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้กำลัง อาวุธ และความรุนแรงในด้านต่างๆ" นายอานันท์ กล่าว

ประการที่สาม คือ การทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปกครองโดยนิติธรรม ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ตัวบทกฎหมาย แต่ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์แห่งกฎหมายและความเป็นธรรมด้วย ที่สำคัญกฎหมายไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง รัฐบาลไม่ควรดำเนินการตามอำเภอใจ จับกุมผู้คนที่คัดค้านนโยบายของตน และลิดรอนสิทธิเสรีภาพบุคคลที่บุคคลเหล่านั้นพึงมีตามกฎหมาย ทั้งนี้หากการบังคับใช้หลักนิติธรรมอ่อนแอ การทุจริตคอรัปชั่นจะเฟื่องฟู ประชาธิปไตยจะผิดเพี้ยน นักการเมือง ข้าราชการ ภาคเอกชน ตำรวจ ทหารล้วนใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อสร้างความร่ำรวยให้แก่ตนเอง และเอื้อประโยชน์บนความทุกข์ยากของสังคม นอกจากนี้ ความเป็นอิสระและเที่ยงธรรมของภาคตุลาการถือเป็นฐานหลักที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของหลักนิติธรรม

"การปกครองด้วยหลักนิติธรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสและรับผิดชอบของภาครัฐ เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่รัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน" นายอานันท์ กล่าว

ประการที่สี่ การปรับสมดุลในโครงสร้างเชิงอำนาจระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ซึ่งรัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนเป็นผลลัพธ์ของการมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมืองมีการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ การปกครองที่รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมดไม่สามารถจะรองรับความสลับซับซ้อนของสังคมที่เพิ่มมากขึ้นได้ การกระจายอำนาจการปกครอง จะช่วยเปิดพื้นที่ให้กลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้น และเป็นวิธีหนึ่งที่จะลดอิทธิพลของกลุ่มพลังทางการเมือง หัวใจของการกระจายอำนาจคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่งที่กระทบเขาโดยตรง จึงควรให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกแผนแม่บทของตนเอง โดยรัฐเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูล สนับสนุนงบประมาณ และสนองความต้องการอื่นๆ ที่จำเป็นเท่านั้น

"ผมไม่ได้หมายถึงการกระจายอำนาจให้กับองค์กรท้องถิ่นโดยควบคุมจากส่วนกลาง แต่หมายถึงการกระจายอำนาจให้ถึงมือประชาชนหรือกลุ่มตัวแทนประชาชนที่แท้จริง ที่ผ่านมาเราตั้งองค์กรในท้องถิ่น แต่ควบคุมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ดังนั้นเราจำเป็นต้องปฏิรูปองค์กรท้องถิ่นให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ไม่ใช่ความต้องการของส่วนกลาง" นายอานันท์ กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเดินหน้าไปสู่ New Normal ที่กล่าวมานั้นจำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้ ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะกระบวนการปฏิรูปมักนำมาซึ่งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นการถ่วงดุลอำนาจไม่ให้ผู้เสียประโยชน์กีดขวางการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จำเป็นต้องพึ่งกลไกการกระจายผลประโยชน์ที่ได้ระหว่างสมาชิกในสังคมอย่างสมดุล การปฏิรูปควรมองเป็นองค์รวม แต่ในช่วงที่ผ่านมาเรามุ่งการแก้ไขปัญหาทั้งหมดไปที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญค่อนข้างเปลืองมาก ปัจจุบันเป็นฉบับที่ 19 ในระยะเวลา 83 ปี

"รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาทั้งปวงของสังคมได้ สังคมทุกส่วนต้องอ้าแขนรับอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญก่อนที่มันจะสร้างความแตกต่างได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาได้ประจักษ์แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงที่มุ่งเน้นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงลำพังนั้น ไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สมบูรณ์ได้ หากไม่เกิดขึ้นพร้อมการปฏิรูปกลไกอื่นๆ ที่เป็นเสาหลักประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยเฉพาะการปฏิรูปวิธีคิดของคน และการปฏิรูปการเมือง" นายอานันท์ กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปฏิรูปไม่ใช่การกระทำที่เสร็จได้ในครั้งเดียว แต่การปฏิรูปเป็นเพียงกระบวนการที่อาจเริ่มขึ้นด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งกระบวนการต้องพัฒนาต่อไป และเราต้องไม่ตกหลุมของการใช้ทางลัดต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมายสูงสุด การปฏิรูปไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่มีสูตรตายตัว ต่างจากการสร้างบ้านที่ต้องมีแบบชัดเจนและดำเนินการจากต้นจนจบทีละขั้นตอน

"ประชาธิปไตยที่แท้จริงเปรียบเสมือนต้นไม้ที่โตขึ้นได้จากปัจจัยสนับสนุนนานัปการ ไม่มีต้นไม้สองต้นที่เหมือนกันทุกประการ แต่ทุกต้นสามารถให้ร่มเงาได้เหมือนกันในที่สุด...เมล็ดของประชาธิปไตยจะต้องงอกเงยจากภายในแต่ละสังคมเอง จึงจะได้รับการยอมรับและดำเนินไปได้" นายอานันท์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ