KBANK คาดเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในต.ค.-มองแนวโน้มค่าเงินในภูมิภาคยังอ่อนค่าต่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 18, 2015 10:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ค่อนข้างผิดคาดที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมในการประชุมรอบล่าสุดนี้ และจากที่รับฟังการชี้แจงของเฟดก็ไม่พบว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะเป็นตัวบั่นทอนมากเกินไปที่จะทำให้ต้องคงดอกเบี้ย โดยสภาพตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ถือว่ามีความเหมาะสมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้แล้วในรอบนี้ แต่เฟดกลับลังเลไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะกังวลผลทางตรงและทางอ้อมของภาวะเงินเฟ้อในอนาคต ซึ่งการขยับดอกเบี้ยระยะสั้น จะทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อสินค้านำเข้าที่ถูกลงและทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป นอกจากนี้จากภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ อาจทำให้เฟดยังเลือกที่จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้

“สิ่งที่สร้างความไม่แน่นอนคือเรื่องภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ ที่เฟดให้น้ำหนักไปทางประเทศจีน และตลาดเกิดใหม่มากเกินไปหรือเปล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในโจทย์ที่สภาคองเกรสให้กับเฟดไว้ แต่เฟดอาจจะแย้งว่าอาจทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อมีความผันผวนได้"นายกอบสิทธิ์ กล่าว

นายกอบสิทธิ์ มองว่า เฟดยังมีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้อีกครั้ง คือ เดือนต.ค.น่าจะเหมาะสม เพราะถ้าจะไปปรับขึ้นในเดือนธ.ค.จะติดกับช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ซึ่งตลาดอาจจะไม่มีความพร้อม ซึ่งถ้าพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐนั้นจะพบว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนหน้าน่าจะมีความพร้อมกว่า

ส่วนที่มองว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าเลยนั้น มองว่ามีโอกาสน้อยเพราะเป็นช่วงปีที่ต้องเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ โอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจเหลือแค่ครึ่งปีแรกเท่านั้น เพราะหากปรับขึ้นช่วงครึ่งปีหลังเฟดอาจจะโดนกล่าวหาได้ว่าเล่นการเมือง

“เรายังปักธงไว้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ต.ค. ส่วนจะขึ้นอีกทีหรือไม่ก็ต้องดูสภาพเศรษฐกิจต่อไป แต่เฟดไม่น่าจะโยนว่าต้องดูภาวะต่างประเทศ เพราะมันไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจีนจะมีนโยบายอย่างไร ความโปร่งใสในเชิงการวางแผนนโยบายของจีนยังมีคำถามค่อนข้างมาก"นายกอบสิทธิ์ กล่าว

พร้อมมองว่า การที่ค่าเงินในเอเชียกลับมาแข็งค่าในช่วงหนึ่ง เป็นผลจากที่ตลาดผ่อนคลายจากการที่เฟดได้ยืดเวลาการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อน แต่ภาวะนี้เป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น เพราะแนวโน้มค่าเงินในเอเชียในระยะปานกลางถึงระยะยาวยังเป็นมองว่าจะอ่อนค่าต่อ โดยคาดว่าสิ้นปีเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 36.75 บาท/ดอลลาร์ และปีหน้าอยู่ที่ 38.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเรายังจำเป็นต้องอาศัยเงินบาทอ่อนค่าเพื่อช่วยหนุนการส่งออกในการนำไปสู่การพยุงเศรษฐกิจของไทยต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ