(เพิ่มเติม1) "อาคม" เผยรัฐบาลตั้งเป้าผลักดันลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 19 โครงการ มูลค่า 1.77 ล้านลบ.ใน Q3/59

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 25, 2015 18:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.คมนาคม มั่นใจรัฐบาลจะสามารถขับเคลื่อน ผลักดัน และเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5 ด้าน จำนวน 19 โครงการ ใช้เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.77 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการวางฐานทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ โดยทุกโครงการจะสามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ราวไตรมาส 3 ของปี 59
"ทั้ง 19 โครงการ มีเม็ดเงินลงทุนราว 1.7 ล้านล้านบาท อยู่ในวิสัยที่ทำได้ จะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ราวไตรมาส 3 ของปี 59" นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวในการบรรยายในหัวข้อ "นับถอยหลัง---สู่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน"

สำหรับโครงการลงทุนทั้ง 5 ด้าน คือ โครงข่ายขนส่งระบบบรางระหว่างเมือง, โครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล, โครงข่ายถนน, การขนส่งทางน้ำ และการขนส่งทางอากาศ ซึ่งประกอบด้วย 19 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย คือ พัทยา-มาบตาพุด, บางปะอิน-นครราชสีมา, บางใหญ่-กาญจนบุรี, โครงการรถไฟทางคู่ 5 ช่วง คือ คลอง 19-แก่งคอย, จิระ-ขอนแก่น, มาบกระเบา-จิระ, นครปฐม-หัวหิน และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, โครงการไฟความเร็วสูง 2 สาย คือ กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีน และกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น, โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล 5 สาย คือ สายสีม่วงใต้(เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ), สายสีชมพู(แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี), สายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง), สีแดงเข้ม(บางซื่อ-หัวหมาก)/แดงอ่อน(พญาไท-ดอนเมือง), สีส้ม(ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี), โครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่สอง, การขยายท่าเรือแหลมฉบัง

โดยาในส่วนโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล 5 สาย จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ราวธ.ค.58 - มี.ค.59 และเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 4/59 ขณะที่โครงการขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 คาดเสนอเข้าที่ประชุมครม.ได้เร็วสุดในเดือนธ.ค. 58 หรืออย่างช้าสุดไม่เกินเดือนมี.ค.59 เช่นกัน

"จะเสนอเข้า ครม.คงบอกเวลาที่ชัดเจนไม่ได้ แต่เร็วสุดในไตรมาสที่สามปีนี้ หรืออย่างช้าสุดไม่เกินไตรมาสแรกของปีหน้า" นายอาคม กล่าว

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เนื่องจากมีการปรับแผนการลงทุนจากเดิมที่จะเป็นการสร้างทางวิ่งระยะทาง 2,900 เมตร แต่ขยายเป็นระยะทาง 3,500 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ และรองรับกรณีต้องปิดซ่อมบำรุงทางวิ่งแรก

นายอาคม กล่าวว่า โครงข่ายเส้นทางคมนาคมที่จะลงทุนดังกล่าวมุ่งไปยังแนวชายแดนเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าที่มีอัตราเฉลี่ยปีละ 10-15% รองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ตลอดจนรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังแหล่งชุมชนที่เป็นแหล่งผลิตและแหล่งท่องเที่ยว

ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่าจะเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 21.1 กม. มูลค่าราว 1 แสนล้านบาท ได้ในช่วงไตรมาส 2/59 หลังจากเสนอครม.อนุมัติภายในปีนี้

"สิ้นปีน่าจะรับอนุมัติจากครม.หลังจากนั้นเราเริ่มกระบวนการประกวดราคา จัดทำราคากลาง น่าจะภายในไตรมาส 2 ปี 59 ก็เริ่มประกวดราคา หลังจากคาดว่ารถไฟสายอื่นก็จะเวลาไล่เลี่ยกัน"

นอกจากนี้ คาดว่า ครม.น่าจะอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. มูลค่าราว 1แสนล้านบาทภายในสิ้นปีนี้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูข่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. คาดใช้เวลามากกว่าสายอื่น เพราะจะเปิดให้เอกชนเจ้ามาร่วมลงทุนทั้งโครงการคือทั้งงานโยธา, การจัดหารถและบริหารการเดินรถ คาดว่าจะคัดเลือกเอกชนได้แล้วเสร็จในปี 59 ทั้ง 4 โครงการดังกล่าว

ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) มีความก้าวหน้างานก่อสร้างทั้ง 5สัญญา. อยู่ที่ 65.83% (ณ ส.ค. 58) ซึ่งล่าช้ากว่าแผน เพราะที่ผ่านมามีปัญหาการเวนคืนที่ดิน ส่วนงานเดินรถ ทางรฟม.ได้ส่งให้ก.คมนาคมแล้วให้ยุติการใช้รูปแบบตามพ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 แต่มาใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนเอกชนปี 56 แทนซึ่งจะเสนอต่อครม.เพื่ออนุมัติ จากนั้นรฟม.จะนำกลับมาศึกษารูปแบบการลงทุนใหม่และส่งให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือคณะกรรมการ PPP พิจารณาและกำหนดรูปแบบต่อไป

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กม. จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 ซึ่งรฟม.มีแนวคิดบริหารจัดการเพื่อเพิ่มความสะดวกผู้โดยสารที่เป็นสุภาพสตรี โดยจัดตู้โดยสารขบวนกลางให้เป็นตู้เฉพาะสำหรับสุภาพสตรีเท่านั้น หรือเลดี้ โบกี้ เฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ช่วงเช้าและช่วงเย็นซึ่งมีปริมาณผู้โดยสารหนาแน่น เช่นเดียวกับในต่างประเทศโดยเฉพาะอินเดียซึ่งมีผู้ใช้บริการหนาแน่น

ที่ผ่านมา รฟม.ได้เสนอแนวทางดังกล่าว ไปยัง บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน ซึ่ง BMCL อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบดังกล่าว เพราะปัจจุบันมีสายสีน้ำเงินมีปริมาณผู้โดยสารหนาแน่นในวันธรรมดา คือ 2.9 แสนเที่ยวต่อวัน แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้

สาเหตุที่ต้องการจัดให้มีตู้เลดี้โบกี้ เพราะปัจจุบัน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนผู้โดยสารส่วนใหญ่มักจะยืนบริเวณทางเข้าออกขบวนรถ แต่ไม่เดินเข้าไปกลางขบวนทำให้เกิดความแออัดในขบวนรถ ซึ่งรฟม.เห็นใจผู้โดยสารสุภาพสตรีที่ไม่ต้องการเบียดเสียด เพราะอาจกังวลเรื่องความปลอดภัย จึงต้องการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ