รมว.คมนาคม เปิดท่าเรือราม 1 เป็นพื้นที่ต้นแบบเชื่อมระบบเดินทางรถ-ราง-เรือ เล็งขยายเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 28, 2015 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิด "ท่าเรือรามหนึ่ง" ที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ รามคำแหงว่า เป็นพื้นที่ต้นแบบเชื่อมการเดินทางด้วยรถ-ราง-เรือ พร้อมทั้งมีพื้นที่ของภาคเอกชนที่เช่าที่ดินรถไฟ ซึ่งนอกจากทำให้การเดินทางต่อเชื่อมสะดวกแล้วยังต่อเชื่อมกับพื้นที่พาณิชยกรรม และอนาคตจะเชื่อมกับพื้นที่ท่องเที่ยวอีกด้วย

โดยท่าเรือรามหนึ่งห่างจากท่าเรือคลองตัน 50 เมตร ห่างจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีรามคำแหง 150 เมตร และห่างจากป้ายรถเมล์ 300 เมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ประชาชนสามารถเดินต่อเชื่อมกันได้ และยังมีรถไฟชานเมืองสายตะวันออก ของร.ฟ.ท.(หัวลำโพง-แปดริ้ว)กว่า 20 ขบวนต่อวันให้บริการอีกด้วย

นายอาคม กล่าวว่า ในอนาคตจะมีการขยายการเดินทางรูปแบบ รถ-ราง-เรือ อีกหลายแห่ง เช่น ท่าเรือสาทร ซึ่งมีสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งมีประชาชนเดินทางจากนนทบุรีเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยท่าเรือเจ้าพระยา 19 ท่า จะมีการปรับปรุงใหม่ในปี 2559 โดยขณะนี้ที่ปรึกษากำลังศึกษาออกแบบการย้ายสถานีบีทีเอสตากสินเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้โดยสาร ในการต่อรถไฟฟ้ากับเรือด่วนเจ้าพระยา คาดว่าจะได้ข่อสรุปเร็วๆ นี้ และต่อไปจะเป็นท่าเรือพระนั่งเกล้า ซึ่งมีรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการในปี 2559 เช่นกัน

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดระบบตั๋วร่วม เพื่อนำมาใช้งานกับระบบขนส่งมวลชนทุกระบบ ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส รฟม. ซึ่งคาดว่าจะได้เร็วที่สุดในเดือนส.ค.59 ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ ดังนั้นจะต้องมีการพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทางแต่ละระบบ โดยจะต้องพิจารณาตามข้อจำกัดของแต่ละสถานีให้เหมาะสมกับกายภาพของพื้นที่

ส่วนการจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา ซึ่งกรณีที่มีการท้วงติงว่ามีราคาแพงกว่าที่มาเลเซียซื้อนั้น ทางนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม ชี้แจงแล้วว่ามีข้อเปรียบเทียบข้อมูล ซึ่งรถแอร์พอร์ตลิงก์กับรถที่มาเลเซียซื้อนั้นมีข้อแตกต่างกันในเรื่องเทคโนโลยี เรื่องระบบรางที่มาเลเซียใบ้ระบบรางร่วม(แชร์แทร็ก) ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์ใช้ระบบแยก ซึ่งจะส่งผลไปที่เรื่องระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถ, มีระบบสำรอง ระบบการขับเคลื่อนล้อหน้า ล้อหลัง ซึ่งทางการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ชี้แจงมาชัดเจนว่าเป็นการกำหนดคุณลักษณะที่เป็นเรื่องความมั่นใจในการให้บริการ และหลักประกันในเรื่องการเดินรถ กรณีรถมีปัญหาระบบเครื่องกลชำรุด คือ จะต้องไม่เกิดปัญหาและรถต้องสามารถวิ่งให้บริการได้ตลอดเวลา

ดังนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบประเด็นข้อท้วงติงต่างๆ และจะต้องชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด สามารถเดินหน้าตามขั้นตอนประกวดราคาต่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องล้มประมูล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ