สศก.เดินหน้าลดต้นทุนผลิต-ยกระดับสินค้าเกษตรสู่สากล รับมือเปิดการค้าเสรีอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 29, 2015 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การเข้าสู่การเปิดการค้าเสรีอาเซียนในปี 2559 จะทำให้ประเทศไทยต้องเข้าสู่สภาวะที่ต้องมีความพร้อมในการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จึงได้พัฒนาสินค้าเกษตรของไทยให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียนและระดับสากล เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน สร้างความแตกต่างจากสินค้านำเข้าในอนาคต โดยได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน ซึ่งในปัจจุบันสินค้าเกษตรหลายชนิดได้มาตรฐานในระดับสากลและเป็นที่ยอมรับ ทั่วโลก เช่น กุ้ง ผลไม้ ไก่แช่แข็ง และนม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ผันผวนของเศรษฐกิจโลก และศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นของประเทศในกลุ่มอาเซียน ทำให้ต้องมีการพัฒนาตลาดภายในขึ้นมารองรับผลผลิต เพื่อลดความไม่แน่นอนของตลาดส่งออก จึงได้มีการดำเนินโครงการเกษตรกร (Farmers Market) ขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งจัดตลาดสี่มุมเมืองเพื่อจำหน่ายสินค้าคุณภาพในจุดหลัก 4 แห่งของกรุงเทพฯ และปริมณฑล

นอกจากนี้ เรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตของประเทศในกลุ่มอาเซียนก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น เพื่อให้ภาคการเกษตรไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กำหนดให้ ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิต และดำเนินการโครงการส่งเสริมเกษตรให้เป็นแปลงใหญ่ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนเชื่อมโยงกับตลาดสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการร่วมมือกับภาคเอกชน ดำเนินการจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ บริษัทการบินไทย เพื่อนำผลิตผลการเกษตรที่มีคุณภาพได้รับการรับรองมาตรฐาน เช่น ผัก ผลไม้ และกุ้งแปรรูป มาบริการลูกค้าบนเครื่องบิน ตลอดจนยังมีกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อรองรับผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับจากการเปิดเสรีที่จะเกิดขึ้น

"สศก.มีความพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อน และติดตามประเมินผลการดำเนินงานกิจกรรมและโครงการต่างๆ ในปี 2559 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับทราบถึงผลการดำเนินงาน ไปสู่แนวทางการปรับปรุงกิจกรรม/โครงการต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรให้มีความสามารถในการแข่งขัน และได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศในอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญที่มีผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคนในอนาคตต่อไป"นายเลอศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ