(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.ย. -1.07% Core CPI อยู่ที่ +0.96%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 1, 2015 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)ในเดือน ก.ย.58 อยู่ที่ 106.28 ติดลบ 1.07% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.57 จากตลาดคาดการณ์ CPI จะขยายตัวที่ระดับ -1.07% ถึง -1.09% โดยเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้า(ส.ค.58) ติดลบ 0.05% ส่งผลให้ CPI ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.58) ลดลง 0.90%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) เดือน ก.ย.58 อยู่ที่ 106.03 เพิ่มขึ้น 0.96% จากเดือน ก.ย.57 และเพิ่มขึ้น 0.07% จากเดือน ส.ค.58

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ก.ย.58 อยู่ที่ 114.64 เพิ่มขึ้น 1.31% จากเดือน ก.ย.57 และเพิ่มขึ้น 0.11% จากเดือน ส.ค.58 ตามการสูงขึ้นของราคาอาหารสด ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ต้นหอม หัวหอมแดง ส้มเขียวหวาน มะนาว และอาหารโทรสั่ง(delivery) สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ ผักและผลไม้บางชนิด เช่น ผักบุ้ง มะเขือ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี พริกสด แตงกวา มะระจีน เงาะ องุ่น ฝรั่ง ลองกอง แตงโม ลำไย สับปะรด และน้ำมันพืช

ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 101.80 หดตัว 2.36% จากเดือน ก.ย.57 และลดลง 0.14% จากเดือน ส.ค.58 จากการลดลงของราคาแก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 น้ำมันเบนซิน 95 ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ก๊าชยานพาหนะ(LPG) ค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศชั้น 1 และ 2 ค่าโดยสารรถประจำทางไม่ปรับอากาศ วิ่งระหว่างจังหวัด แป้งผัดหน้า แป้งทาผิวกาย และน้ำยาล้างห้องน้ำ สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ(NGV) ค่าเช่าบ้าน ค่าตรวจโรคคลินิกเอกชน สบู่ถูตัว ยาสีฟัน และน้ำยาระงับกลิ่นกาย

นายสมเกียรติ ศรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย.58 ยังคงลดลงจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะจากผลของการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG และเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มปรับตัวลดลง รวมทั้งค่ากระแสไฟฟ้าปรับลดลงตามอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) จากมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) งวดประจำเดือน ก.ย.58-ธ.ค.58 เท่ากับ 46.38 สตางค์ต่อหน่วย และอาหารสดประเภทผักสดและผลไม้บางชนิดปรับตัวลดลงเช่นกัน

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปไม่รวมกลุ่มราคาอาหารสดและพลังงาน) ยังคงขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 0.96 (YoY) ทั้งนี้ มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 184 รายการ ทรงตัว 160 รายการ และลดลง 106 รายการ

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องนั้นมีโอกาสจะเข้าสู่เงินฝืดยังอยู่ในระดับต่ำ และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ