สศก.เผยเกษตรกรพอใจผล"โครงการ 1 ล้านบาทต่อ 1 ตำบล"ชี้เกิดจ้างงานสร้างรายได้จริง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 21, 2015 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามประเมินผลโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หรือโครงการตำบลละล้านที่สิ้นสุดการดำเนินงานเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ชุมชนสามารถดำเนินงานได้ทั้งสิ้น 6,596 โครงการ จาก 3,043 ตำบล ใน 58 จังหวัด ใช้จ่ายงบประมาณ 2,992.75 ล้านบาท ซึ่งมีผลสำเร็จกว่า 99% ของเป้าหมาย โดยผู้นำกลุ่ม/องค์กรเกษตรกร มีความพึงพอใจเป็นอย่างมากต่อโครงการ เนื่องจากเกิดรายได้จากการจ้างงานในชุมชน และเกิดประโยชน์ต่อเนื่องจากโครงการในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เกษตรกร รวมทั้ง สร้างการมีส่วนร่วม ความสามัคคี และปรองดองภายในชุมชน

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ของ สศก.เพื่อประเมินผลหลังจากโครงการของชุมชนได้ดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงเดือนสิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา พบว่า โครงการสามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน โดยผู้นำกลุ่ม/องค์กรเกษตรกรที่เสนอโครงการ 96% เห็นว่าโครงการมีความเหมาะสมเป็นอย่างมากกับสภาพปัญหาของชุมชนและตรงตามความต้องการที่แท้จริง ซึ่งโครงการกว่า 60% เป็นโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ในชุมชน เช่น จัดทำแหล่งน้ำการเกษตร สร้างลานตาก และโรงเรือนเก็บผลผลิตเกษตร ส่วนอีก 23% เป็นการต่อยอดจากกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่เดิมในชุมชน และ 17% เป็นการปรับปรุงฟื้นฟูโครงการเดิม

ทั้งนี้ พบว่า งบประมาณจำนวน 1 ล้านบาทต่อ 1 ตำบล มีความเหมาะสมระดับปานกลาง โดยชุมชนต้องการให้สนับสนุนงบให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ความต้องการของชุมชน และจำนวนครัวเรือนเกษตร เมื่อพิจารณาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ มีครัวเรือนเกษตรได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 2.87 ล้านครัวเรือน จากการมีแหล่งน้ำใช้ในฤดูแล้ง มีช่องทางหารายได้เพิ่ม มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง และผลผลิตการเกษตรมีคุณภาพเพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานในชุมชน จำนวน 0.87 ล้านราย โดยแรงงานในชุมชนส่วนใหญ่ 82% มีความพอใจต่อค่าจ้างที่ได้รับในระดับมาก

ด้านรายได้ พบว่า มีรายได้จากการจ้างงานของโครงการ ประมาณ 1,800 บาทต่อราย และจากการดำเนินงานโครงการก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจระดับชุมชน 2,048 ล้านบาท หรือ 84% ของเป้าหมาย (2,442 ล้านบาท) สำหรับผลประโยชน์ทางสังคม พบว่า กระบวนการดำเนินโครงการก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและสำนึกความเป็นเจ้าของ และความสามัคคีภายในชุมชน แบบร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมจัดการดูแล ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่โครงการ ร้อยละ 92 เห็นว่าเกิดประโยชน์ในแง่ของความร่วมมือและความสามัคคีในชุมชนระดับมาก และ 88% เห็นว่าเกิดความร่วมมือกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานภาครัฐในระดับมาก เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบสำคัญจากการประเมินผล คือ กระบวนการดำเนินงานโครงการสามารถใช้เป็นแบบอย่างให้โครงการอื่นๆ ได้ แต่ต้องสร้างความเชื่อมโยงมาตรการ/แผนงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะกลไกการทำงานของ ศบกต. หากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนงานพัฒนาการเกษตรในระดับชุมชนได้อย่างดียิ่ง ควรส่งเสริมการรวมกลุ่ม และการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้ง การเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรด้านการตลาด ในด้านปริมาณสินค้า รูปลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม ทั้งในและต่างประเทศ สุดท้าย โครงการของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแหล่งน้ำ ควรมีการวางแผนทั้งระบบ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ควรมีเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง ควบคุมดูแล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ