"อนุสรณ์"มองตลาดเงิน-หุ้นทั่วโลกดีขึ้น Q4/58 รับผลจีนลดดบ.-ECB อาจเพิ่ม QE

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday October 25, 2015 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่าตลาดการเงินโลกและตลาดหุ้นทั่วโลกจะปรับตัวในทิศทางขาขึ้นในช่วงไตรมาส 4/58 เป็นผลทั้งจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 6 ในรอบปีของธนาคารกลางจีนและการลดการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) นอกจากนี้ยังคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะตัดสินใจดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) มากเป็นพิเศษ โดยการเข้าซื้อสินทรัพย์และตราสารทางการเงินเพิ่มเติมในเร็วๆนี้ และ การทำ QE ครั้งใหม่นี้น่าจะมีขนาดของเม็ดเงินที่ไม่น้อยกว่าเดิมและระยะเวลาอาจยืดยาวถึงปี 60

โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อตลาดการเงินทั่วโลก ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวในทิศทางดีขึ้น ซึ่งเม็ดเงินส่วนหนึ่งจะไหลเข้ามาทางเอเชียและไทย โดยที่ไม่มีผลทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นหรือเกิดการกระตุ้นด้านการลงทุนมากเกินไป อย่างไรก็ตามมาตรการทางด้านการเงินทั้งหมดจะส่งผลต่อการฟื้นตัวและขยายตัวของภาคเศรษฐกิจจริง หรือภาคการผลิตของโลกไม่มากนัก จึงยังไม่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมากนัก

ทั้งนี้มาตรการ QE ของ ECB จะทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ส่งผลลบให้ภาคส่งออกของไทยไปยุโรปได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย หากเศรษฐกิจยุโรปขยายตัวดีขึ้นจาก QE รอบใหม่จะส่งบวกต่อเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของยูโรโซนจะชดเชยผลกระทบจากยูโรอ่อนค่าที่มีต่อภาคส่งออกของไทย แต่การหยุดชะงักของการเจรจาเปิดเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู)มีผลอย่างมีนัยยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าและบริการของไทยไปอียู

ส่วนการที่ธนาคารกลางจีน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์นั้น เป็นการสะท้อนว่าทางการจีนวิตกกังวลถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและมีความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 7% โดยที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ไตรมาสสามขยายตัว 6.9% เป็นอัตราเติบโตต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 52 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนี้เป็นการปรับลดเป็นครั้งที่ 6 ในระยะเวลา 1 ปี การปรับลดดอกเบี้ยจะส่งผลบวกต่อตลาดการเงินในภูมิภาคและตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย การปรับลดดอกเบี้ยจะทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเล็กน้อย สำหรับปัจจัยนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคส่งออก

สำหรับการการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์อาจช่วยกระตุ้นการบริโภคการลงทุนได้บ้างแต่ไม่สามารถคาดหวังได้มากนัก เพราะมีปัญหาการบริโภคและการลงทุนเกินตัวอยู่มาก ขณะเดียวกันระบบธนาคารก็มีระดับหนี้เสียสูงขึ้น มีปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบธนาคารเงาจำนวนมาก ปัญหาฟองสบู่และอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจต้องใช้มาตรการปรับความสมดุลของระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะการปรับสมดุลในภาคอสังหาริมทรัพย์มากกว่าใช้การมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ โดยภาพรวมหากมาตรการลดดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจจีนเติบโตเพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อภาคส่งออกไทย แต่อย่าคาดหวังมากเพราะปัญหาการส่งออกไทยติดลบโดยภาพรวมเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและขีดความความสามารถในการแข่งขันมากกว่าปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

นายอนุสรณ์ ยังได้กล่าวถึงผลกระทบของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(Trans-Pacific Partnership Agreement:TPP) ต่อเศรษฐกิจไทยว่า การที่ไทยยังไม่สามารถเข้าร่วม TPP ในช่วงนี้แล้วจะผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและก่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังเวียดนาม มาเลเซียนั้นอาจจะเป็นการวิตกกังวลมากเกินไป เพราะผลกระทบหากจะเกิดขึ้นน่าจะในอีก 1-2 ปีข้างหน้า หากไทยไม่เตรียมการอะไรเลยหรือไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกในเวลาที่เหมาะสม การเข้าเป็นสมาชิก TPP ต้องศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบอย่าผลีผลามเป็นอันขาด ต้องเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพราะ TPP มีเรื่องเกี่ยวกับประเด็นอ่อนไหวจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรยา การคุ้มครองพันธุ์พืชและความหลากหลายทางชีวภาพ การให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

"อย่าผลีผลามทำข้อตกลงแต่ต้องไม่ตกขบวน มีทั้งผลได้ผลเสียต่อภาคส่วนต่างๆของไทยแตกต่างกัน ผลกระทบระยะสั้นต่อการค้าการลงทุน การย้ายฐานการผลิตยังไม่เกิดขึ้นชัดเจน กลับคืนสู่ประชาธิปไตยตามกรอบเวลาจะสามารถเข้าสู่กระบวนการเจรจาได้ทันเวลา"นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า กรอบเจรจาการค้า TPP มีลักษณะผูกมัดสมาชิกมากกว่าข้อตกลงการค้าเสรี FTAโดยทั่วไป นอกจากนี้ไทยไม่สามารถกำหนดกรอบเจรจาและข้อตกลงที่บรรลุแล้วในกรอบ TPP ทำให้ไทยเสียเปรียบในธุรกิจอุตสาหกรรมที่ไม่มีความพร้อม เช่น ภาคบริการการเงิน การลงทุน อุตสาหกรรมยาภายใน ไทยไม่สามารถใช้ข้อมูลทดลองทางคลินิกขึ้นทะเบียนยาได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบของการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียนภายใต้ TPP และ การทำทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกาต่อการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าจีดีพีจะอยู่ที่ 2-6% ขึ้นอยู่กับสมมติฐานว่าเป็นอย่างไร ขณะที่ผลกระทบที่มีต่อระดับการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการสังคม อยู่ที่ 800-4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ก่อให้เกิดผลดีและผลเสียหลายประการ จึงถือเป็นความรับผิดชอบในทางการเมืองของรัฐบาลในการดำเนินการอย่างรอบคอบ ต้องมีท่าทีชัดเจนในการเจรจาแต่ละประเด็นว่า ประเด็นไหนจะรุกจะรับอย่างไรและจะเสนออะไรที่เป็นประโยชน์โดยรวมของสาธารณะ มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ

สำหรับกรณีเข้าร่วม TPP ในประเด็นการค้าสินค้าและการลงทุน การเข้าร่วมจะเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสหรัฐและตลาดอื่นๆที่ไทยยังไม่ได้ทำ FTA แต่จะเป็นประโยชน์เฉพาะบางสินค้าเท่านั้นเพราะสหรัฐฯเก็บภาษีในอัตราต่ำอยู่แล้ว ดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น ผู้ผลิตในประเทศสามารถนำเข้าสินค้าขั้นกลางในราคาต่ำลงเพื่อผลิตส่งออก ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันเพิ่มขึ้นมาก อาจเกิดความเสียหายต่อภาครัฐหากมีกรณีพิพาทภายใต้ Investor-state Dispute แต่หากไม่เข้าร่วม TPP ก็จะทำให้เสียโอกาสในการขยายตลาด โดยเฉพาะผลไม้แปรรูป อัญมณีเครื่องประดับ สินค้าเกษตรบางประเภท ผู้บริโภคเสียโอกาสในการซื้อสินค้าที่หลากหลายและถูกลง แต่ข้อดีของการไม่เข้าร่วม คือ แรงกดดันการแข่งขันลดลง

ในส่วนของภาคการเงิน หากเข้าร่วม TPP ราคาบริการภาคการเงินถูกลง ลดอำนาจกึ่งผูกขาดของกลุ่มทุนการเงินไทย เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้น ข้อเสีย คือ ระบบการเงินไทยอาจถูกครอบงำโดยทุนการเงินต่างชาติมากขึ้น และ อาจแย่งงานนักการเงินชาวไทย ขณะที่กิจการโทรคมนาคม ข้อเสียของการไม่เข้าร่วม TPP จะทำให้ค่าบริการไม่ลดลงมาก ขาดการแข่งขันและมีอำนาจผูกขาดอยู่ ข้อดีของการไม่เข้าร่วม ลดการผูกขาดโดยผู้ประกอบการต่างชาติ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ