กกพ.คาดยื่นร่วมโซลาร์ฟาร์มราชการฯกว่า 1.2 พันราย 15 ธ.ค.รู้ผลเบื้องต้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 27, 2015 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกของ กกพ. คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรกว่า 1.2 พันราย หลังจำนวนนี้ได้ยื่นขอตรวจจุดเชื่อมโยงต่อเข้าระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ซึ่งจะช่วยหนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ตามเป้าหมาย 19,635 เมกะวัตต์(MW) ภายในปี 79 โดยคาดว่าภายในปลายปีหน้าจะมีจำนวนผู้ที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนราว 10,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 8,834 เมกะวัตต์
"เบื้องต้นหลังจากที่เราประกาศออกไปมีผู้ที่สนใจกว่า 1,200 รายได้ยื่นขอตรวจจุดเชื่อมโยงต่อเข้าระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวงว่าจะเข้าระบบได้หรือไม่ จำนวน 1,200 รายนี้ถ้าไม่จัดคิวให้ดีมายื่นพร้อมกัน เราก็รับไม่ไหว เราจึงได้เปิดให้จองคิววันและเวลาการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ที่ solar.erc.or.th เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมโครงการและช่วยให้ระยะเวลาในการยื่นคำขอในระหว่างวันที่ 1-10 พฤศจิกายนนี้มีความรวดเร็วขึ้น"นายวีระพล กล่าว

ทั้งนี้ กกพ.ได้ออกออกประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ.2558 โดยการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวมีปริมาณรวมไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ แบ่งการรับซื้อเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจำนวน 600 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิขย์(SCOD) ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.59 ซึ่งให้ผู้ที่สนใจยื่นแบบคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 1-10 พ.ย.58 โดยไม่มีวันหยุดราชการ ส่วนระยะที่สอง กกพ.จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ที่เหลือต่อไป โดยจะมีกำหนดวัน SCOD ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.61

นายวีระพล กล่าวว่า หลังจากที่เปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นเอกสารคำขอเสนอขายไฟฟ้าแล้ว กกพ.จะตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นและประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 11 ธ.ค.58 ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานกกพ. ซึ่งผู้ที่ผ่านคุณสมบัติจะมาจับสลากเพื่อคัดเลือกผู้ที่จะได้ขายไฟฟ้าต่อไป โดยการจับสลากจะมีขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค.58

"วันที่จับสลากจะมีการคีย์ข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ การจับเราจะแยกกล่องระหว่างภาคราชการ และสหกรณ์คนละกล่อง ซึ่งวันนั้นก็จะรู้ผลเบื้องต้นว่าใครได้หรือไม่ได้เลย แต่ก็จะมีการประกาศผลให้ชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 24 ธันวาคมนี้"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวว่า ส่วนการลงทะเบียนเพื่อจองคิวผ่านระบบออนไลน์ ขณะนี้ยังมีไม่มากนัก เพราะเชื่อว่าหลังจากที่ผู้ที่สนใจได้รับข้อมูลจากทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายแล้วก็จะต้องรวบรวมเอกสาร เพื่อเตรียมยื่นเสนอขอขายไฟฟ้า หลังจากนั้นเชื่อว่าผู้ที่สนใจก็จะเข้ามาลงทะเบียนจองคิวต่อไป โดยการลงทุนสำหรับกลุ่มโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 60 ล้านบาท/เมกะวัตต์

สำหรับข้อจำกัดที่หน่วยงานราชการไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้นั้น ทางกกพ.ได้เปิดกว้างให้ผู้ที่เป็นผู้สนับสนุนโครงการ หรือเจ้าของโครงการเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ รวมถึงการใช้ที่ดินของส่วนราชการในการแสวงหารายได้นั้น ก็เปิดกว้างให้เอกชนสามารถบริจาคที่ดินเพื่อดำเนินโครงการได้เช่นกัน

ส่วนเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าในระยะที่ 1 จำนวน 600 เมกะวัตต์ กกพ.ได้แบ่งเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 200 เมกะวัตต์ ,พื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จำนวน 389 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 เมกะวัตต์ ,ภาคตะวันออก 87 เมกะวัตต์ ,ภาคตะวันตก 159 เมกะวัตต์ และภาคกลาง 138 เมกะวัตต์ และพื้นที่ของกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 11 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ก็จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวเสมือนกฟน.และกฟภ.

นายวีระพล กล่าวด้วยว่า เป้าหมายของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน ตามแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของรัฐบาลนั้นภายในปี 79 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 19,635 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐแล้วรวม 8,834 เมกะวัตต์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็นราว 10,000 เมกะวัตต์ในปลายปี 59

โดยสถานะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ณ ส.ค.58 พบว่ามีการผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD) แล้ว 4,920 เมกะวัตต์ และกลุ่มที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แต่ยังไม่ได้ COD รวม 2,897 เมกะวัตต์ ขณะที่มีการตอบรับซื้อแล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็น PPA จำนวน 1,017 เมกะวัตต์ ขณะที่มีผู้ที่ยังคำขอค้างอยู่ แต่ยังไม่ได้มีการตอบรับซื้อไฟฟ้ารวม 1,648 เมกะวัตต์

สำหรับในจำนวนนี้มีกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบ Adder เดิม หรือกลุ่มค้างท่อ ที่มีพันธะผูกพันรวม 171 ราย กำลังการผลิตรวม 984 เมกะวัตต์นั้น ขณะนี้มีผู้ที่ COD แล้วเพียง 2 ราย รวม 16 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะต้อง COD ภายในเดือนธ.ค.58 ซึ่งขอให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ยื่นขอใบอนุญาตทั้งหมด 4 ใบ ได้แก่ ใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร (อ.1) ,ใบอนุญาตพลังงานควบคุม ,ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ใบและใบอนุญาตตามกฎหมายโรงงาน (รง.4) ภายในวันที่ 31 ต.ค.เพื่อที่จะได้ COD ได้ทันตามกำหนด ซึ่งหากไม่ทันก็จะทำให้สัญญาสิ้นสุดไป

ขณะที่ในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟ) สำหรับบ้านอยู่อาศัย และอาคารธุรกิจ,โรงงาน รวม 200 เมกะวัตต์นั้น ปัจจุบันมีพันธะผูกพันแล้วรวม 173 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกลุ่มที่ COD แล้ว 82 เมกะวัตต์ ,กลุ่มที่มี PPA แล้ว 38 เมกะวัตต์ และกลุ่มที่ตอบรับแต่ยังไม่เซ็น PPA จำนวน 53 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดจะต้อง COD ภายในวันที่ 31 ธ.ค.58 ขณะที่กำลังการผลิตส่วนที่เหลือที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย 200 เมกะวัตต์นั้นจะมีการเปิดรับซื้อเพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น คงต้องรอดูนโยบายจากภาครัฐ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าอาจจะเป็นการเปิดเสรีโดยทั่วไป

"โซลาร์รูฟ ถ้ามายื่นก่อน 30 พฤศจิกายนนี้ก็น่าจะดำเนินการได้เร็วในการตรวจสอบติดตามใบอนุญาตต่างๆ ตอนนี้การขอใบอนุญาต อ.1 สำหรับประเภทบ้านอยู่อาศัยก็ไม่ต้องขอแล้ว เพราะมีการประกาศใช้กฎกระทรวงในเรื่องการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านอยู่อาศัยที่มีขนาดติดตั้งไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ไม่ถือว่าเป็นการดัดแปลงอาคาร จึงไม่ต้องยื่นขอใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้กกพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ได้รับ PPA แล้ว แต่เลยระยะเวลา COD และถูกปรับมาเป็นเวลา 12 เดือนแล้ว พบว่ามีทั้งหมด 31 โครงการ กำลังการผลิตรวม 115 เมกะวัตต์ ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ โดยจะเข้าไปตรวจสอบเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและหากไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะยึด PPA คืน โดยในส่วนนี้คาดว่าจะสรุปได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ขณะที่ยังมีโครงการที่ได้รับ PPA และเลยระยะเวลา COD แล้ว แต่ยังถูกปรับไม่ครบ 12 เดือน มีทั้งหมด 39 โครงการ กำลังการผลิตรวม 119 เมกะวัตต์นั้น ก็จะมีการตรวจสอบต่อไป

สำหรับความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา เป้าหมายไม่เกิน 46 เมกะวัตต์นั้น เตรียมจะเสนอแผนเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกกพ.ในวันพรุ่งนี้ หลังสิ้นสุดการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศและร่างหลักเกณฑ์ของโครงการดังกล่าวในวันนี้

ทั้งนี้ หลังจากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ระยะที่ 1 รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff เสร็จสิ้น และการเคลียร์โครงการผลิตไฟฟ้าคงค้างต่างๆเสร็จสิ้น ก็คาดว่าจะมีการพิจารณาเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่นๆต่อไป เพราะปัจจุบันสายส่งที่รองรับกำลังการผลิตไฟฟ้ามีไม่มากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ