ส.อ.ท.เผยผลสำรวจการปรับอัตราค่าจ้างปี 58 เฉลี่ยที่ 5.04% พร้อมลุ้นโบนัส 2.3 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 28, 2015 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2558/2559 ว่า จากผลการสำรวจค่าจ้าง ปี 2558/2559 ในส่วนค่าจ้างขั้นต้น (Base Salary) จำแนกตามระดับการศึกษา โดยเฉลี่ยรวม พบว่า วุฒิปวช. จ่ายเฉลี่ย 10,120 บาท วุฒิปวส. จ่ายเฉลี่ย 11,384 บาท วุฒิปริญญาตรี จ่ายเฉลี่ย 15,491 บาท วุฒิปริญญาโท จ่ายเฉลี่ย 21,047 บาท และวุฒิปริญญาเอก จ่ายเฉลี่ย 35,985 บาท

เมื่อจำแนกตามสาขาวิชาพบว่า วุฒิปวช. สาขาช่างเทคนิค จ่ายสูงสุด 13,150 บาท สาขาช่างเทคนิค, สาขาการตลาด/การขาย, สาขาบัญชี/การเงิน, สาขาบริหารธุรกิจ, สาขาคอมพิวเตอร์ และ สาขาศิลปกรรมศาสตร์ จ่ายต่ำสุด 9,000 บาท วุฒิปวส. สาขาช่างเทคนิค และสาขาการตลาด/การขาย จ่ายสูงสุด 20,516 บาท สาขาช่างเทคนิค จ่ายต่ำสุด 9,200 บาท วุฒิปริญญาตรี สาขาการตลาด/การขาย และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จ่ายสูงสุด 37,950 บาท สาขาการตลาด/การขาย, สาขาบัญชี/การเงิน, สาขาบริหารธุรกิจ,สาขาคอมพิวเตอร์,สาขาสังคมศาสตร์,สาขามนุษย์ศาสตร์/ศิลปศาสตร์/อักษรศาสตร์, สาขาศึกษาศาสตร์, สาขานิติศาสตร์ และสาขารัฐศาสตร์ จ่ายต่ำสุด 10,500 บาท วุฒิปริญญาโท สาขาการตลาด/การขาย และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จ่ายสูงสุด 43,480 บาท สาขา บัญชี/การเงิน และเศรษฐศาสตร์ จ่ายต่ำสุด 14,600 บาท วุฒิปริญญาเอก สาขาเภสัชศาสตร์ จ่ายสูงสุด 57,850 บาท สาขาคอมพิวเตอร์ จ่ายต่ำสุด 25,000 บาท

ค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้มีประสบการณ์จำแนกตามระดับตำแหน่ง โดยเฉลี่ยรวม พบว่า ระดับผู้บริหารกลุ่มงานระดับสูง จ่ายเฉลี่ย 140,957 บาท ระดับผู้บริหารกลุ่มงานระดับกลาง จ่ายเฉลี่ย 68,201 บาท ระดับผู้บริหารกลุ่มงานระดับต้น จ่ายเฉลี่ย 35,554 บาท ระดับผู้ชำนาญการวิชาชีพในกลุ่มงาน จ่ายเฉลี่ย 25,561 บาท และระดับปฏิบัติการ จ่ายเฉลี่ย 16,916 บาท

ค่าจ้างสำหรับผู้มีประสบการณ์จำแนกตามกลุ่มงานโดยเฉลี่ย พบว่า ผู้บริหารระดับสูง กลุ่มงานซ่อมบำรุง จ่ายสูงสุดเฉลี่ย 156,599 บาท กลุ่มงานควบคุมคุณภาพ จ่ายต่ำสุดเฉลี่ย 116,455 บาท ผู้บริหารระดับกลาง กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ จ่ายสูงสุดเฉลี่ย 79,245 บาท กลุ่มงานออกแบบ จ่ายต่ำสุดเฉลี่ย 62,321 บาท ผู้บริหารระดับต้น กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จ่ายสูงสุดเฉลี่ย 40,386 บาท กลุ่มงานคลังสินค้า จัดส่ง จ่ายต่ำสุดเฉลี่ย 33,083 บาท ผู้ชำนาญการ กลุ่มงานกฎหมาย จ่ายสูงสุดเฉลี่ย 30,253 บาท กลุ่มงานซ่อมบำรุง จ่ายต่ำสุดเฉลี่ย 20,935 บาท เจ้าหน้าที่ กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ จ่ายสูงสุดเฉลี่ย 19,644 บาท กลุ่มงานการผลิต จ่ายต่ำสุดเฉลี่ย 14,614 บาท

ด้านนายประพันธ์ ชัยกิจอุราใจ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการมหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์จำแนกตามระดับการศึกษา ปี 2558 กับ ปี 2557 พบว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเฉลี่ย วุฒิปริญญาตรี เพิ่มขึ้นสูงสุด 9.49% รองลงมา ได้แก่ วุฒิปวส. 8.66% วุฒิปวช. 6.69% และวุฒิปริญญาโท 3.16% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยตลอดช่วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี 2552 จนถึงปี 2558 พบว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเฉลี่ยในรอบ 7 ปี วุฒิ ปวช. เพิ่มขึ้นสูงสุด 57.85% (ในปี 2552 ค่าจ้างเฉลี่ย 6,411 บาท และในปี 2558 ค่าจ้างเฉลี่ย 10,120 บาท) รองลงมา ได้แก่ วุฒิปวส. 53.32% (ในปี 2552 ค่าจ้างเฉลี่ย 7,425 บาท และในปี 2558 ค่าจ้างเฉลี่ย 11,384 บาท) วุฒิปริญญาตรี 41.59% (ในปี 2552

ค่าจ้างเฉลี่ย 10,941 บาท และในปี 2558 ค่าจ้างเฉลี่ย 15,491 บาท) และวุฒิปริญญาโท 24.16% (ในปี 2552 ค่าจ้างเฉลี่ย 16,952 บาท และในปี 2558 ค่าจ้างเฉลี่ย 21,047 บาท) ตามลำดับ

สำหรับผลการสำรวจด้านการจัดสวัสดิการ พบว่า ทุกสถานประกอบการจัดสวัสดิการให้กับพนักงานตามที่กฎหมายกำหนด และหลายแห่งยังจัดสวัสดิการที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดให้กับพนักงาน โดยในทุกบริษัทมีสวัสดิการเรื่องการให้ชุดทำงานแก่พนักงาน มีเงินช่วยเหลือให้ในกรณีพนักงานเสียชีวิต คิดเป็น 91.89% และมีเงินช่วยเหลือให้ในกรณีครอบครัวพนักงานเสียชีวิต คิดเป็น 89.19% มีห้องพยาบาล คิดเป็น 87.39% และมีการประกันอุบัติเหตุกลุ่ม คิดเป็น 81.98%

นอกจากนี้ในส่วนของผลการสำรวจด้านนโยบายการจ้าง พบว่า ด้านการปรับอัตราค่าจ้าง พบว่า ค่าเฉลี่ยการปรับอัตราค่าจ้างปี 2558 คิดเป็น 5.04 % การจ่ายโบนัสประจำปี พบว่า การจ่ายโบนัสเฉลี่ย คิดเป็น 2.3 เดือน โดยมีนโยบายการจ่ายโบนัส แบ่งเป็น แบบผันแปรไปตามผลงานมากที่สุด 48% แบบผสมระหว่างตามผลงานและอายุการทำงาน 28 % และแบบจ่ายอัตราเท่ากันทุกคน 19 % ตามลำดับ ขณะที่อัตราการออกของพนักงาน (Turnover Rate) เฉลี่ยอยู่ที่ 12.27 % จากสาเหตุอันดับหนึ่งปีนี้ยังคงเป็น ค่าตอบแทน หรือ สวัสดิการ เช่นเดิมรองลงมา ได้แก่ ไม่พึงพอใจในงานที่ทำ/อำนาจหน้าที่ และ ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน เช่น หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ตามลำดับ

อนึ่ง ครงการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ส.อ.ท.กับมหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 7 สำหรับปีนี้มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 110 แห่ง จำแนกเป็น 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี, กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง, กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก, กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์คมนาคม, กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์, กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ