(เพิ่มเติม) กกพ.คาดรับซื้อโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ เฟส 2 ราวกลางปี 59 หลังเปิดเฟสแรกคึกคัก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 2, 2015 13:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐ์กุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. คาดว่าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟส 2 น่าจะมีขึ้นในราวกลางปี 59 ขณะที่การเปิดรับซื้อไฟฟ้าเฟสแรกล่าสุดมีผู้มายื่นแล้ว 23 ราย และคาดว่าจะมีผู้มายื่นทั้งหมดไม่น้อยกว่า 1 พันราย กำลังการผลิตรวม 5 พันเมกะวัตต์ (MW) จากเป้าหมายรับซื้อเฟสแรก 600 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กกพ.เปิดให้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในเฟสแรก ตั้งแต่วันที่ 1-10 พ.ย. และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติวันที่ 11 ธ.ค. เพื่อมาดำเนินการจับสลากในวันที่ 15 ธ.ค. ซึ่งคาดว่าจะสามารถรู้รายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในเบื้องต้น ก่อนจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ธ.ค.นี้

"การรับซื้อครั้งนี้ไม่ได้แข่งขันเลย วัดดวง ไม่ใช่ Bidding แล้วแต่ดวง มีพื้นที่ มี feeder ก็มีสิทธิได้ไป...ส่วนการเปิดโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯเฟส 2 คงต้องรอหลังการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในรูปแบบ Bidding ของสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ Bidding ทั่วประเทศก่อน เพื่อเคลียร์สายส่งให้เสร็จหลังจากนั้นคงจะเปิดเฟส 2 ต่อไปซึ่งคงจะประมาณกลางปี 59"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวว่า ส่วนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) เฟส 2 เบื้องต้นจำนวนอยู่ที่ 200 เมกะวัตต์ แต่ก็ขึ้นกับการการเปิดเฟสแรก หากมีจำนวนเมกะวัตต์คงเหลือก็จะนำมาเปิดรับซื้อรวมในเฟสที่ 2 โดยเฟสที่ 2 กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.61

สำหรับการเปิดให้ยื่นข้อรับขายไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ เฟสแรกที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อวานนี้ มีผู้มายื่นเอกสารทั้งหมด 15 ราย จำนวน 15 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตร ขณะที่วันนี้มีผู้จองคิวยื่นเอกสาร 19 ราย และมีผู้ที่เดินทางมายื่นเอกสารโดยไม่ได้จองคิวอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งช่วงเช้าวันนี้มีผู้มายื่นเอกสารเพิ่มเป็น 23 รายแล้วทั้งหน่วยงานสหกรณ์ภาคการเกษตรและหน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ส่วนใหญ่ยื่นข้อเสนอรายละ 5 เมกะวัตต์/โครงการ ขณะที่ผู้สนับสนุนโครงการ ส่วนใหญ่คือภาคเอกชนจะมีสิทธิสนับสนุนโครงการได้รวมไม่เกิน 50 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ หน่วยงานราชการที่มายื่นมีทั้งในส่วนของโรงเรียน,มหาวิทยาลัย,องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นต้น โดยพื้นที่ที่เสนอกระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ขณะที่ยังไม่มีการยื่นในพื้นที่ส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

เบื้องต้นมีผู้ยื่นขอตรวจจุดเชื่อมโยงต่อเข้าระบบไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายแล้ว 1,200 ราย ทำให้คาดว่าจะมีผู้เข้ามายื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย หรือมีกำลังการผลิตรวม 5 พันเมกะวัตต์ แต่จากเป้าหมายการรับซื้อในระยะแรกรับได้เพียง 600 เมกะวัตต์ ทำให้ต้องมีการจับสลากเพื่อคัดเลือกต่อไป

โครงการที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องจ่ายไฟฟ้าภายในกำหนด 30 ก.ย.59 หากเลยเวลาก็จะยกเลิกสัญญา ขณะที่เชื่อว่าผู้ที่ยื่นขายไฟฟ้าครั้งนี้จะเป็นผู้ดำเนินโครงการอย่างจริงจัง โดยไม่หวังเพื่อนำใบอนุญาตไปขายต่อเหมือนในอดีต ประกอบกับมีเงื่อนไขว่าผู้สนับสนุนโครงการจะต้องไม่ลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 51% ภายใน 3 ปีด้วย

ด้านนางสาวพิมพ์พร โกพล วิศวกรพัฒนาธุรกิจ บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่(TSE) กล่าวว่า กลุ่มบริษัทได้เดินทางมายื่นเอกสารเป็นผู้สนับสนุนโครงการเพื่อขอขายไฟฟ้า รวม 10 โครงการ กำลังการผลิตรวม 49 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการยื่นข้อเสนอร่วมกับกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตร 3 แห่ง ส่วนที่เหลือร่วมกับหน่วยงานราชการ ซึ่งรวมถึงกองทัพเรือด้วย โดยยื่นข้อเสนอส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี ,สุพรรณบุรี ,ประจวบคีรีขันธ์ ,ชลบุรี เป็นต้น ส่วนความคาดหวังว่าจะได้รับการขายไฟฟ้ากี่โครงการนั้น ไม่สามารถระบุได้เพราะต้องขึ้นอยู่กับการจับสลากเป็นหลัก

ทั้งนี้ กกพ.ได้ออกออกประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ โดยการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวมีปริมาณรวมไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ แบ่งการรับซื้อเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจำนวน 600 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิขย์(SCOD) ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.59 ส่วนระยะที่สอง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.61

เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าในระยะที่ 1 จำนวน 600 เมกะวัตต์ กกพ.ได้แบ่งเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ของกฟน. จำนวน 200 เมกะวัตต์ ,พื้นที่กฟภ. จำนวน 389 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 เมกะวัตต์ ,ภาคตะวันออก 87 เมกะวัตต์ ,ภาคตะวันตก 159 เมกะวัตต์ และภาคกลาง 138 เมกะวัตต์ และพื้นที่ของกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 11 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ก็จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวเสมือนกฟน.และกฟภ.

โครงการที่ได้รับการคัดเลือกจะมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี และจะได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 5.66 บาท/หน่วย ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)เคยคาดการณ์ว่าแต่ละโครงการจะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน(IRR) ราว 10-12%


แท็ก ประดิษฐ์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ