"สมคิด" มองโมเมนตัมศก.ปีหน้าดีขึ้น หลังรัฐออกมาตรการกระตุ้น-เร่งขจัดอุปสรรคลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 6, 2015 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมหาแนวทางขับเคลื่อนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคเอกชนในการสนับสนุนให้สามารถดำเนินธุรกิจได้โดยสะดวกว่า การอำนวยความสะดวกและขจัดอุปสรรคต่อการลงทุนถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปีที่ผ่านมาไทยถูกลดอันดับจากธนาคารโลก เนื่องจากการละเลยด้านการพัฒนา แต่ประเทศอื่นกลับมีการพัฒนาดีขึ้น ประกอบกับขาดการบูรณาการของหน่วยงานทางราชการที่มีเป็นจำนวนมาก

สำหรับการประชุมในวันนี้ได้มีการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการประกอบธุรกิจของแต่ละหน่วยงานซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก เช่น เรื่องการจดทะเบียนธุรกิจได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการติดตามการทำงาน ซึ่งได้คำยืนยันว่าสามารถดำเนินจดทะเบียนได้ภายใน 1 วัน แต่นายกรัฐมนตรีอยากให้มีการเร่งกระบวนการ one stop service ให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น

ส่วนการขอใบอนุญาตนั้นยังมีปัญหาในเรื่องการขอใบอนุญาตการก่อสร้าง ซึ่งมีการร้องเรียนถึงความล้าช้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดำเนินการแก้ไข รวมถึงเรื่องผังเมืองที่ยังมีความซ้ำซ้อนและความยุ่งยากในเรื่องเอกสาร ซึ่งได้รับคำยืนยันว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ปัญหาเรื่องผังเมืองจะน้อยลง ส่วนเรื่องภาษีได้รับคำยืนยันจาก รมว.คลังว่าไม่มีปัญหาความซ้ำซ้อนและจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 4 เช่นกัน

สำหรับปัญหาเรื่องการจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) หรือผลกระทบด้านสุขภาพ(EHIA) ที่ประชุมได้หารือเพื่อลดเวลาและขั้นตอนในการทำงานเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะมีการจ้างทีปรึกษาจากองค์กรภายนอกมาช่วยในการประเมินแทน และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับไปดำเนินการแก้ไข เพราะหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไข ปัญหาเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการก่อสร้างในโครงต่างๆได้

นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องมาตรฐานองค์การอาหารและยาที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมคลัสเตอร์ด้านการแพทย์ จึงได้มอบหมายให้ รมว.อุตสาหกรรม ไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อ.ย.)

นายสมคิด เชื่อมั่นว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปัญหาอุปสรรคต่างๆ จะค่อยๆคลี่คลายไป ซึ่งจะมีการติดตามความคืบหน้างานแต่ละด้านอีกครั้งในช่วงสิ้นสุดไตรมาสที่ 4

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนที่จะมาลงทุนในแต่ละคลัสเตอร์นั้น นายสมคิด ระบุว่า มีความชัดเจนมากขึ้นในแต่ละคลัสเตอร์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเตรียมที่จะลงนามเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นคณะบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้การบริหารงานรวดเร็ว และทำงานเชิงรุกมากขึ้น

"การลงทุนในปีหน้าถือเป็นช่วงที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังจะเห็นการลงทุนจากภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่อยากเห็นการลงทุนจากภายในด้วย พร้อมทั้งชี้แนะให้นักลงทุนไทยเพิ่มการลงทุนได้แล้ว เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่ดี และเรื่องค่าเงินอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดงานสัมนาการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมการลงทุนให้มากยิ่งขึ้นด้วย"นายสมคิด กล่าว

นอกจากนี้ยังเชื่อว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาในช่วงนี้จะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม และจะมีส่วนช่วยต่อการลงทุนมากขึ้นด้วยตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้า

"มาตรการต่างๆ กำลังส่งโมเมนตัม แต่ตัวหลักคือการลงทุน เพราะฉะนั้นด้านหนึ่งไปดึงเข้ามา อีกด้านหนึ่งจูงใจให้พวกเราลงทุน อีกด้านคือการเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งเสริมในประเทศต้องให้บริการดีขึ้น เรตติ้งจะได้ดีขึ้นต่างประเทศจะได้สนใจจะมา ถ้าช่วยกันทั้งหมดเชื่อว่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ" นายสมคิด กล่าว

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า การประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยโดยธนาคารโลกในปีนี้มีอันดับตกลงมาจากปีก่อน ซึ่งเป็นการประเมินไว้ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ การทำงานที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดนี้จึงมุ่งหวังให้การประเมินอันดับของประเทศดีขึ้น เพื่อส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

โดยรัฐบาลมอบหมายให้ทุกหน่วยงานมีการทำงานแบบบูรณการเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฏหมาย การบริหารงานด้วยหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ควบคู่ไปกับการปรับผังเมือง การขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การกำหนดมาตรฐาน มาตรฐานขององค์การอาหารและยา(อ.ย.) เป็นต้น แต่ความเชื่อมั่นดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นหากความร่วมมือของทุกฝ่ายยังไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศด้วย

"การหารือในวันนี้ถือเป็นการเดินหน้าเรื่องการปฏิรูป โดยเน้นไปที่การบรูณาการการทำงาน และเร่งสร้างความเข้มแข็งในช่วงตลอดอายุของรัฐบาลจนถึงเดือนกรกฎาคม 2560 จึงต้องมีการวางรากฐาน บรูณาการการทำงาน และแก้ไขกฏหมายให้มีความสอดคล้อง"

ส่วนการทำประชาพิจารณ์สอบถามความคิดเห็นประชาชนเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) หรือผลกระทบด้านสุขภาพ(EHIA) นั้นจะลดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อเอื้ออำนวยการลงทุน โดยจะเริ่มต้นให้ได้ภายในปี 2560


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ