พาณิชย์หนุนผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่นไทยเจาะตลาดแฟชั่นแบรนด์ในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday November 29, 2015 10:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ร่วมกับหน่วยงาน The Oversea Human Resources and Industry Development Association (HIDA) ของประเทศญี่ปุ่น และผู้จัดงาน Japan Fashion Week (JFW) ในการพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่นที่มีแบรนด์ของไทยให้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปเกี่ยวกับการทำธุรกิจแฟชั่น และรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสินค้า ตลอดจนแนวทางการเข้าสู่ตลาดแฟชั่นแบรนด์ของญี่ปุ่น

ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมฯ จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย สมาชิกสมาคมแฟชั่นดีไซน์เนอร์กรุงเทพฯ (BFS) จำนวน 2 ราย ได้แก่ แบรนด์ Issue และแบรนด์ Greyhound นักออกแบบรุ่นใหม่ตามโครงการ Designer’s Room และโครงการ Product Development Workshop จากงานแสดงสินค้า BIFF & BIL 2016 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 5 ราย ได้แก่ แบรนด์ Munchu’s แบรนด์ Fox Pixel แบรนด์ Q Design and Play แบรนด์ Leisure Project และแบรนด์ Iconic

การเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว และนครโอซากา ทำให้ผู้ประกอบการทั้ง 7 แบรนด์ได้พบกับผู้ซื้อที่แท้จริง ทั้งฝ่ายจัดซื้อของห้างสรรพสินค้าและห้างที่จำหน่ายสินค้าจากหลากหลายดีไซเนอร์แบรนด์ (Multi Brand Store) พร้อมทั้งได้รับทราบข้อคิดเห็นข้อติชมเกี่ยวกับตัวสินค้าและการทำตลาดจากผู้ซื้อ สามารถกลับมาพัฒนาสินค้าให้มีความเหมาะสมกับตลาดญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งห้างสรรพสินค้า และ Multi Brand Store ต้องการให้มีการจัดวางขายสินค้าที่มีความแตกต่างแปลกใหม่ เพื่อเรียกความสนใจจากผู้บริโภคญี่ปุ่น รวมถึงต้องการให้ผู้ซื้อที่เป็นนักท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศได้ซื้อสินค้ามากขึ้นด้วย

"ตลาดแฟชั่นแบรนด์ของญี่ปุ่นยังคงต้องการสินค้าที่มีมาตรฐานการตัดเย็บและคุณภาพวัตถุดิบในระดับสูง แม้ว่าผู้ซื้อจากญี่ปุ่นจะให้ความสนใจการออกแบบของดีไซเนอร์ไทย แต่ผู้ประกอบการไทยยังต้องปรับปรุงในด้านคุณภาพของผ้า และออกแบบของเสื้อผ้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่น ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์และเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ได้แต่งตัวตามเทรนด์แฟชั่นมากนัก" อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของผู้ประกอบการแฟชั่นไทย คือ การขาดแคลนวัตถุดิบผ้าที่มีคุณภาพ ซึ่งผ้าผืนที่ผลิตในไทยยังไม่มีความโดดเด่นและขาดเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Uniqueness) มีผลให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องนำเข้าผ้าผืนจากต่างประเทศ รวมถึงการใช้เทคนิคในการตัดเย็บที่มีความประณีตตามความต้องการของผู้นำเข้าญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับชนิด คุณภาพของเนื้อผ้า และความประณีตของการตัดเย็บมาก

ในปัจจุบันวิธีการซื้อขายสินค้าแฟชั่นของญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เจ้าของแบรนด์ขายให้กับผู้จัดจำหน่าย แล้วผู้จัดจำหน่ายจะขายต่อให้ผู้บริโภค เปลี่ยนไปเป็นเจ้าของแบรนด์ขายตรงให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้และยอมรับแบรนด์โดยตรง และเป็นการทดสอบตลาดว่าแบรนด์ใดบ้างที่สามารถขายได้ในตลาด ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจแฟชั่นแบรนด์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ แต่ละแบรนด์ยังต้องถ่ายทอดเรื่องราว (Story Telling) ของแบรนด์ตนเองให้ผู้บริโภคได้รับทราบด้วย

นางมาลี กล่าวว่า โครงการต่อเนื่องจากนี้ กรมฯ มีแผนจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในรูปแบบ Pop Up Store ในย่านการค้าที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ซึ่งเน้นรูปแบบของร้านค้าปลีกแนวใหม่ในการเสริมสร้างภาพลักษณ์แฟชั่นแบรนด์ของไทย และเป็นการส่งเสริมการตลาดให้สินค้าแฟชั่นแบรนด์ของไทยให้เข้าสู่ตลาดแฟชั่นญี่ปุ่นได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นการทดสอบตลาดให้สินค้าแฟชั่นแบรนด์ของไทยด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 (มกราคม – กันยายน) มีมูลค่า1,995 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดสำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สหราชอาณาจักร และฮ่องกง โดยในส่วนของญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดส่งออกเครื่องนุ่งห่มอันดับ 2 ของไทย ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่า 290 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ