กฟผ.โต้รายงานกรีนพีซ ยันโรงไฟฟ้าถ่านหินคุมเข้มทันสมัยไม่เป็นสาเหตุตายก่อนวัย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2015 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ตามที่กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งในอินโดนีเซีย เวียดนาม และล่าสุดที่ประเทศไทย ซึ่งได้เสนอรายงานเรื่อง “ต้นทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามกับสุขภาพของคนไทย" มีสาระสำคัญว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรไทยประมาณ 1,550 ราย/ปี มาตรฐานสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต่ำกว่ามาตรฐานสากล และโรงไฟฟ้าถ่านหินยังทำให้เกิดฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้างนั้น

จากการศึกษาในประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งใช้การคำนวณจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ อ้างอิงกับการศึกษาขององค์กรต่างๆ เช่น รายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization :WHO) ในความเป็นจริงรายงานขององค์การอนามัยโลก ที่จัดทำขึ้นในปี 54 ได้ชี้ให้เห็นผลกระทบต่อสุขภาพของฝุ่นควันขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือ PM10 และฝุ่นควันขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 รวมทั้งแหล่งกำเนิดของฝุ่นควันเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ เช่น การใช้ถ่านและ ถ่านหินในการหุงต้มในครัวเรือน การคมนาคม ขนส่ง อุตสาหกรรม ขยะ รวมทั้งการใช้และผลิตพลังงาน

จากสาเหตุของฝุ่นควันที่มาจากหลายปัจจัยดังกล่าว ในข้อเท็จจริงโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการกำจัดฝุ่นที่ทันสมัยที่สุด โดยโรงไฟฟ้าทุกโรงจะติดตั้งเครื่องดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต(Electrostatic Precipitator:ESP) ซึ่งมีประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นก่อนปล่อยออกจากปล่องโรงไฟฟ้าร้อยละ 99-99.8

ผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นในบรรยากาศรอบบริเวณโรงไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในหมู่บ้านรอบโรงไฟฟ้าจำนวน 10 สถานี ล่าสุดในเดือนกันยายน 58 มีค่า PM10 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ระหว่าง 7-41 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่า PM2.5 คำนวณได้เฉลี่ย 3-18 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดีกว่ามาตรฐานของประเทศ PM10 ในบรรยากาศไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ PM2.5 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดีกว่าค่าแนะนำ (Guideline) ขององค์การอนามัยโลกกำหนด PM10 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ PM2.5 ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเครื่องยืนยันว่า คุณภาพอากาศจากการดำเนินงานโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ อยู่ในเกณฑ์ดีตามมาตรฐานของประเทศไทยและองค์การอนามัยโลก จึงไม่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจวัดฝุ่น PM10 ที่สูงเกินกว่า 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า แม่เมาะและหลายจังหวัดในภาคเหนือ ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 58 ซึ่งเป็นช่วงที่มีปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ชี้ว่ามีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ สอดคล้องกับรายงานขององค์การอนามัยโลกที่ระบุถึงสาเหตุของฝุ่นควัน

สำหรับเรื่องมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยด้อยกว่าเกณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป บางประเทศ โฆษกกฟผ. กล่าวชี้แจงว่า เป็นความจริงว่า ปัจจุบันมาตรฐานคุณภาพอากาศจากแหล่งกำเนิดของไทยยังด้อยกว่าบางประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เนื่องจากเกณฑ์ควบคุมคุณภาพอากาศของประเทศไทยได้กำหนดใช้สำหรับอุตสาหกรรมทุกประเภท ซึ่งภาครัฐเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการบังคับใช้กับภาคส่วนต่างๆ

อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. เช่น โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา ได้กำหนดค่าควบคุมมลภาวะจากแหล่งกำเนิดหรือจากปล่องโรงไฟฟ้าดีกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยกำหนดไว้ในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งโรงไฟฟ้าจะต้องปฏิบัติตามตลอดอายุโรงไฟฟ้า เช่น โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา กำหนดค่าควบคุมฝุ่น PM10 ที่ปล่อยออกจากปล่องไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ไม่เกิน 50 ส่วนในล้านส่วน (PPM) ขณะที่ค่ามาตรฐานประเทศไทยของ PM10 จากแหล่งกำเนิดไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร NOX ไม่เกิน 200 PPM และ SO2 ไม่เกิน 180 PPM จะเห็นได้ว่า ค่าควบคุมจากปล่องโรงไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ทั้งฝุ่น NOX และ SO2 ดีกว่าค่าควบคุมของประเทศไทยประมาณ 3 เท่าตัว และใกล้เคียงกับมาตรฐานของยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ในประเด็นฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ซึ่งรายงานของกรีนพีซ ระบุว่า หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา จะทำให้เกิดมลภาวะแพร่กระจายข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศนั้น จากการที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ทั้ง 2 โครงการมีมาตรการควบคุม PM10 และ PM2.5 จากแหล่งผลิต ตามมาตรฐานสากลโดยได้ กำหนดไว้ในรายงาน EHIA ดังกล่าวมาแล้ว ประกอบกับการตรวจวัดค่าจริงในบรรยากาศรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบันของ กฟผ. จึงมั่นใจได้ว่า โครงการทั้ง 2 จะไม่ทำให้เกิดมลภาวะแพร่กระจายตามแบบจำลองของกรีนพีซ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ ยังจะต้องมีระบบตรวจวัด และติดตามคุณภาพอากาศในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง

โฆษกกฟผ. กล่าวอีกว่า จากเทคโนโลยีและมาตรการควบคุมมลภาวะของโรงไฟฟ้า รวมทั้งการตรวจวัดในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จึงมั่นใจได้ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในปัจจุบันและโครงการในอนาคตจะไม่ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝุ่นควันขนาดเล็กทั้ง PM10 และ PM2.5 เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องเฝ้าระวัง ซึ่ง กฟผ. ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศและจอแสดงผลรอบบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าทุกแห่ง อยากขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน งดเว้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน เช่น การเผาขยะ เผาป่า วัชพืช หรือการใช้ฟืนหุงต้มอาหาร เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีของทุกคน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ