ไทย-ลาว ร่วมเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ในลาวเชื่อมความร่วมมือด้านพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2015 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา โครงการความร่วมมือเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานระหว่างประเทศไทย โดยราชบุรีโฮลดิ้งร่วมกับบ้านปูพาวเวอร์ และ สปป.ลาว กำลังผลิตรวม 1,878 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าหงสา เป็นโครงการความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานระหว่างประเทศไทย โดยบริษัท บ้านปูพาวเวอร์ จำกัด ถือหุ้น 40% และ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ถือหุ้น 40% ร่วมกับ สปป.ลาว โดยรัฐวิสาหกิจลาว 20% ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดประกอบด้วย 3 หน่วยผลิต มีกำลังการผลิตรวม 1,878 เมกะวัตต์ โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อในจำนวน 1,473 เมกะวัตต์ และรัฐวิสาหกิจลาว รับซื้อจำนวน 100 เมกะวัตต์ ส่วนไฟฟ้าที่เหลือจะถูกนำไปใช้ภายในโครงการฯ และมีระยะสัญญาการซื้อขาย 25 ปี ปัจจุบันหน่วยผลิตที่ 1ได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) ผ่านสายส่ง 500 กิโลโวลต์ เข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าของกฟผ. เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา และหน่วยที่ 2 ได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ส่วนเครื่องที่ 3 จะมีกำหนดการที่จะเริ่มเดินเครื่องในการผลิตไฟฟ้าเดือนมีนาคม 2559

ทั้งนี้ ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศไทยปี 2558-2579 (PDP 2015) ในช่วง 10 ปีแรกระหว่างปี 2558-2569 ได้บรรจุแผนการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวรวม 3,316 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมี 4 โครงการที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(Power Purchase Agreement – PPA)แล้ว และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าหงสา 3 หน่วยกำลังผลิตรวม 1,473 เมกะวัตต์ จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าได้ครบทั้งระบบในปี 2559 โครงการพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย 354 เมกะวัตต์ โครงการน้ำเงี๊ยบ1 269 เมกะวัตต์ และโครงการไซยะบุรี 1,220 เมกะวัตต์ ซึ่งจะได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าได้ครบทั้งระบบในปี 2562 นอกจากนี้ ตามแผน PDP 2015 ในปี 2569-2579 ไทยยังมีแผนที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มอีก 7,700 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศไทย

พล.อ.อนันตพร กล่าวต่อว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายนี้ ประเทศไทยได้เล็งเห็นโอกาสจากการบูรณาการความร่วมมือด้านพลังงานของประเทศอาเซียน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าที่จะนำมาสู่การค้าขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมั่นคงยิ่งขึ้นยังก่อให้เกิดการลดต้นทุนทางเศรษฐกิจจากการใช้ทรัพยากรร่วมกันด้วย

นอกจากนี้ ในปี 2557 ประเทศไทยได้ตกลงเข้าร่วมในโครงการ Lao PDR, Thailand, Malaysia, Singapore Power Integration Project (LTMS PIP) ซึ่งเป็นโครงการศึกษาแผนการบูรณาการโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน (Asian power Grid) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากสปป. ลาวไปยังสิงคโปร์ โดยสิงคโปร์ตกลงในหลักการที่จะซื้อไฟฟ้า จำนวน 100 เมกะวัตต์ จาก สปป. ลาว ผ่านโครงข่ายสายส่งของไทยและมาเลเซีย ปัจจุบันระบบสายส่งของสปป. ลาว ได้เชื่อมต่อกับโครงข่ายสายส่งของไทย และระบบสายส่งของไทยก็เชื่อมต่อกับมาเลเซีย ขณะที่มาเลเซียก็เชื่อมต่อกับสิงคโปร์ แล้ว ขณะนี้โครงการฯ อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายพลังงานไฟฟ้าข้ามพรมแดนแบบพหุพาคี โดยกระทรวงพลังงาน และกฟผ. ได้เข้าร่วมในคณะทำงานชุดนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน ได้เร่งรัดให้ดำเนินการพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศ เพื่อให้พร้อมรองรับการบูรณาการโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าของอาเซียน การเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าในอาเซียนจะทำให้ไทยสามารถประสานประโยชน์จากความร่วมมือด้านการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมั่นคงเชื่อถือได้มากขึ้น สร้างรายได้เข้าประเทศจากการค้าพลังงานไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียน สามารถใช้ทรัพยากรพลังงานในประเทศและภูมิภาคร่วมกันได้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนด้านพลังงานต่ำลง ด้วยจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทยจะทำให้สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคได้ในอนาคตอย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ