รมว.เกษตรฯ ย้ำเดินหน้าปฏิรูปภาคเกษตร สร้างความเข้มแข็ง พร้อมเข้าสู่ AEC ในปี 59

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2015 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวแถลงผลงาน 1 ปี ของกระทรวงว่า ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาสินค้าเกษตรด้วยการประกันราคา จำนำผลผลิตการเกษตร ซึ่งบิดเบือนกลไกตลาด และเป็นช่องว่างให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่ไม ถูกต้อง เกิดความเสียหายต่อรัฐและเกษตรกรทั้งหมดนี้เป็นปัญหาด้านการเกษตรที่สะสมมานาน ส่งผลให้การเกษตรกรที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ รัฐบาลปัจจุบันจำเป็นต้องกำหนดนโยบาย มาตรการ การแก้ไข
ปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

โดยกระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายรวมสูงสุดที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรฝ่าฟันปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้

สำหรับระยะที่ 2 การสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรในระยะยาว

โดยได้ประกาศให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการรณรงค์ลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร ซึ่งจะมีการดำเนินการครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ การลดต้นทุนปัจจัยการผลิต การเพิ่มผลผลิต การบริหารจัดการ และการตลาด โดยประสานกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ปัจจุบันได้ลดราคาปุ๋ยเคมีและสารเคมีบางประเภทแล้ว ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงให้ได้ประมาณ 5-10%

ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนและเป็นแหล่งให้เกษตรกรเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน จนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้สนับสนุนการรวมกลุ่มและให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตร การเชื่อมโยงตลาด มีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 กรอบงบประมาณ 1,064 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกร จำนวน 220,500 ราย ซึ่งผลจากมาตรการนี้จะนำไปสู่

1) การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือ Zoning ซึ่งเป็นการทำให้พื้นที่การผลิต สินค้าเกษตรมีผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เช่น การปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ปศุสัตว์ และประมง เป็นต้น เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรและเป็นประโยชน์ในการวางแผนการใช้พื้นที่การเกษตรที่มีอยู่ประมาณ 150 ล้านไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

2) การขับเคลื่อนระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นการบริหารจัดการรวมกลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อหน่วย โดยใช้ตลาดนำการผลิตซึ่งขณะนี้มีกิจกรรมในแปลงใหญ่ จำนวน 270 แปลง และมีต้นแบบใน 76 จังหวัด รวม 76 แปลงต้นแบบ

การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยเริ่มต้นกับจังหวัดยโสธรเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์- โดยกำหนดจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในเดือนมกราคม 2559 เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการอยู แล้ว และขยายผลไปเกษตรกรกลุ่มอื่นที่สนใจในพื้นที่อื่นต่อไป

โครงการธนาคารสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ให้เกษตรกรได้นำผลผลิตทางการเกษตรมาแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยการผลิตที่มีราคาถูก โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2559 ในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ต้นแบบ

การส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน และการสนับสนุนให้ประกอบอาชีพเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคาผลผลิตทางการเกษตรจากพืชเชิงเดี่ยว โดยปลูกพืชหลากหลายชนิดเสริมควบคู กัน เช่น โครงการ สนับสนุนสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเสริมด้านเกษตร ที่ได้ดำเนินการปี 2558 ที่ผ่านมา เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 100,000 ราย วงเงิน 10,000 ล้านบาท และในปี 2559 ได้สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา จำนวนกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท มีเกษตรกรจะได้รับประโยชน์ 50,000 รายๆ ละ 100,000 บาท จากการปลูกพืชใช้น้ำน้อย หากทำเกษตรอินทรีย์ผลผลิตจะมีราคาดีกว่าการเกษตรทั่วไป เป็นต้น

"ปี 2559 ที่จะมาถึง ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การปฏิรูปภาคการเกษตรจึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องเกษตรกรด้วย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ