(เพิ่มเติม1) ธปท.ปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้โต2.8%จากเดิม2.7%, ปี59คาดโต 3.5%ต่ำกว่าเดิม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2015 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 ขยายตัว 2.8% สูงกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อยที่ 2.7% เนื่องจากการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยเฉพาะในไตรมาส 3/58 และคาดว่าจะต่อเนื่องถึงไตรมาส 4/58 ของปีนี้

สำหรับในปี 59 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ 3.5% ต่ำกว่าประมาณเดิมเล็กน้อยที่ 3.7% ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลงโดยเฉพาะจีนและเอเชีย แม้ว่าจะถูกชดเชยด้วยแรงส่งที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าคาด แต่อาจไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด

"การคาดการณ์ขยายตัวนี้ ยังไม่นับรวมมาตรการกระตุ้นใช้จ่ายที่นำไปหักลดหย่อนภาษี 15,000 บาทที่ออกมาล่าสุด แต่เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะสร้างแรงจูงใจให้คนจับจ่ายใช้สอยได้" นายจาตุรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว

ด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยเสี่ยงด้านบวกสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงกว่าประมาณการ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำตามแรงกดดันด้านต้นทุนที่ลดลง แต่ความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดยังจำกัด ทั้งนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังมีแนวโน้มติดลบตลอดทั้งปี 2558 แต่จะทยอยปรับสูงขึ้นและกลับมาเป็นบวกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 จากผลของฐานราคาน้ำมันสูงที่จะหมดไป รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ มองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนอย่างต่อเนื่อง มีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ในปี 2559 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ เศรษฐกิจคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ อาทิ เศรษฐกิจจีนมีการปรับโครงสร้าง ลดพึ่งพาการส่งออกและการลงทุน ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวต่ำ รวมถึงราคาสินค้าส่งออกหลายชนิดต่ำกว่าประมาณการเดิม ตามราคาน้ำมันดิบ เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และยางพารา โดยจะเห็นผลชัดเจนในปี 2559 ทำให้คาดว่าการส่งออกในปี 2559 จะขยายตัวได้ 0.0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.2% ส่วนปี 2558 การส่งออกจะหดตัว -5.5% ซึ่งมากกว่าเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -5.0%

นายจาตุรงค์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนธันวาคม 2558 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ขยายตัวสูงกว่าคาด และคาดว่าจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 4 แต่ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ตามการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนที่ต่ำกว่าคาด แม้ว่าจะถูกชดเชยด้วยแรงส่งที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชน แต่อาจไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาดตามต้นทุนที่ลดลงเป็นสำคัญ ทั้งนี้ พัฒนาการสำคัญที่คณะกรรมการฯ ได้นำมาประกอบการประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าข้อสมมติเดิม (2) นโยบายภาครัฐมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการลงทุนภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (3) สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558 ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนที่อยู่ในระดับต่ำยังคงเป็นปัจจัยลบต่อผลผลิตและรายได้ภาคเกษตรในปี 2559 และ (4) ราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่าคาด

"สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบในปี 2558 มีแนวโน้มกลับมาเป็นบวกในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ส่วนประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 59 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.8% จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 1.2% เป็นการปรับลดตามราคาน้ำมันที่คาดว่าทั้งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 43 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ลดลงจาก 51.3 เหรียญสหรัฐต่อ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.9% เพิ่มขึ้นจากเดิม 0.8% จากแรงกดดันด้านอุปสงค์และการขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ โดยความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืดยังมีจำกัด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2558 อยู่ที่ -0.9% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.1%" นายจาตุรงค์ กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชียที่ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกของไทย อีกทั้งยังเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในช่วงวัฏจักรขาลง ผนวกกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ต่ำกว่าคาด มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งในปี 2558 และ 2559 จึงปรับลดลงจากที่เคยประเมินไว้โดยเป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ และทำให้ภาคเอกชนเลื่อนการลงทุนออกไปเนื่องจากกำลังการผลิตยังเหลืออยู่มาก จึงไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต

อย่างไรก็ดี การส่งออกบริการยังมีแนวโน้มขยายตัวดีโดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศฟื้นตัวจากเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ ได้เร็วกว่าที่คาด แต่ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่ภาครัฐมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการใช้จ่ายในโครงการลงทุนของรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนได้ในระดับหนึ่ง ช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก และเมื่อรวมกับราคาน้ำมันในประเทศที่ต่ำลงจึงช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนได้บ้างในภาวะที่รายได้ในภาคเกษตรอยู่ในระดับต่ำ และภาระหนี้ยังเป็นปัจจัยถ่วงการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

แรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านต้นทุนปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์สูงกว่าที่คาดเล็กน้อย เนื่องจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่ขยายตัวดีกว่าที่เคยประเมินไว้ เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับราคาขึ้นได้บ้างในบางหมวดสินค้าและบริการ ประกอบกับจะมีผลของการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในช่วงต้นปี 2559 คณะกรรมการฯ จึงประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มสูงกว่าที่เคยคาดไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ตามการลดลงของราคาน้ำมันที่มีผลมากกว่าแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืดยังคงมีจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ยังขยายตัวและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจในปี 2558 ตามภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวสูงกว่าที่คาดเป็นสำคัญ และคาดว่าจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 4 แต่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2559 พร้อมกับประเมินว่าความเสี่ยงต่อประมาณการในด้านต่ำมีมากกว่าด้านสูง

โดยโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐาน มาจาก (1) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาดโดยเฉพาะจีนและเอเชีย (2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว และ (3) ปัญหาภัยแล้งที่อาจรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมในปี 2559 มากกว่าคาด

ขณะเดียวกัน โอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานอาจเกิดจาก (1) การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะโครงการลงทุนที่อาจทำได้เร็วกว่าที่คาดไว้ และ (2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนได้มากกว่าคาด

สำหรับนโยบายการเงินยังอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้ภาวะที่ยังมีความเสี่ยงด้านลบจากเศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และภาวะตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน และ 16 ธันวาคม 2558 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยประเมินว่าภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น แต่ก็ได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาล

ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงจากที่เคยประเมินไว้ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดมีจำกัด โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบอยู่ในปัจจุบันจะทยอยปรับสูงขึ้นและกลับเป็นบวกในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ทั้งนี้นโยบายการเงินให้น้ำหนักกับการดูแลเสถียรภาพทางการเงินในช่วงที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักอาจทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนมากขึ้น

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2558 ขยายตัว 2.9% ซึ่งสูงกว่าที่คาด และต่อเนื่องไปยังไตรมาส 4/2558 ที่ขยายตัว 2.7% แต่ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ ตามการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนที่ต่ำกว่าคาด แม้จะชดเชยด้วยการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนแต่ก็ทำได้เล็กน้อย

"โดยประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงินต้องติดตาม คือ ปัจจัยเสี่ยงการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดการเงินที่อาจมีมากขึ้น ความต่อเนื่องใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนและผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินจากการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า จากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน" นายจาตุรงค์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ