รายงาน กนง.ให้น้ำหนักดูแลเสถียรภาพตลาดเงินพร้อมรับมือความเสี่ยงตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2015 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.58 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยประเมินว่านโยบายการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับผ่อนปรน สะท้อนจากภาวะการเงินรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยจากการประชุมครั้งก่อน

นอกจากนี้ กรรมการเห็นพ้องว่าการดำเนินนโยบายการเงินในระยะนี้ ควรให้น้ำหนักมากขึ้นกับการดูแลเสถียรภาพตลาดการเงิน โดยระมัดระวังมิให้เกิดความไม่แน่นอนเพิ่มเติมในภาวะที่ตลาดการเงินมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก

อย่างไรก็ตาม กรรมการบางส่วนมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจะมีผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจค่อนข้างจำกัด ขณะที่มาตรการของภาครัฐจะทยอยมีบทบาทมากขึ้นในระยะต่อไป นอกจากนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ไว้ใช้ในยามจำเป็นในภาวะที่ปัจจัยแวดล้อมโดยเฉพาะด้านต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า

ระยะต่อไป กนง.เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง กรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้ติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search for yield) ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ พร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

ด้านเป้าหมายนโยบายการเงิน ปี 59 คณะกรรมการฯ หารือถึงกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่เหมาะสม และมีมติให้เสนออัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5% +/- 1.5 เป็นเป้าหมายระยะปานกลาง เนื่องจากมีความสอดคล้องกับพื้นฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจคู่ค้าคู่แข่งซึ่งจะช่วยรักษาขีดความสามารถการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของไทย รวมทั้งที่ผ่านมา เป้าหมายนี้มีประสิทธิภาพในการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชน

สำหรับการกำหนดให้เป็นเป้าหมายระยะปานกลางเพื่อสื่อสารให้ประชาชนสามารถวางแผนการบริโภคและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับระยะเวลาของกลไกการส่งผ่านของนโยบายการเงินไปยังการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

รายงาน กนง.ฉบับนี้ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 และเดือน ต.ค.58 ฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปและยังจำกัดอยู่เฉพาะในบางภาคส่วนของเศรษฐกิจสอดคล้องกับที่คณะกรรมการฯ ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวจากการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าจำเป็นและหมวดบริการ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่การส่งออกสินค้ายังคงหดตัวต่อเนื่อง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญและข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของการค้าโลก และการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของไทย การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนอยู่ในระดับต่ำ และการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลงทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ส่วนหนึ่งเนื่องจากธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการให้สินเชื่อตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น

ในภาพรวมประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 58 อยู่ที่ 2.8% ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิมเมื่อเดือน ก.ย.58 ที่ 2.7% อย่างไรก็ดี ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 59 ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือน ก.ย.58 เล็กน้อย จาก 3.7% มาอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากคาดว่าการใช้จ่ายภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจะไม่สามารถชดเชยการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลงมากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ล่าช้ากว่าที่เคยคาดไว้ได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้นทั้งด้านลบและด้านบวก โดยปัจจัยเสี่ยงด้านลบที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและเอเชีย ส่วนความเสี่ยงด้านบวกที่สำคัญ คือเศรษฐกิจไทยอาจได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติม หากภาครัฐสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนได้เพิ่มขึ้น และสามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนได้มากกว่าที่ประเมินไว้แต่โดยรวมคณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงด้านลบยังคงมากกว่าความเสี่ยงด้านบวก

แรงกดดันเงินเฟ้อโดยรวมปรับลดลงเล็กน้อยจากการประชุมครั้งก่อนตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องจนถึงกลางปี 59 และประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 59 ปรับลดลงจากประมาณการเดิมมาอยู่ที่ 0.8% ตามแรงกดดันด้านต้นทุนที่ต่ำลง ขณะที่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 58 ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากประมาณการเดิมที่ -0.9% สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 58 และ 59 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.1% และ 0.9% ตามลำดับ เนื่องจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่ขยายตัวเอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับราคาขึ้นได้บ้างในบางหมวดสินค้าและบริการ ประกอบกับจะมีผลของการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในช่วงต้นปี 59

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืดมีจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ยังขยายตัวและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก สะท้อนว่าราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับสูงขึ้น ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ

ด้านภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมฟื้นตัวอย่างช้าๆ ใกล้เคียงกับที่ประมาณการครั้งก่อน แต่วัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักและกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียแตกต่างกันชัดเจนขึ้น โดยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแรงสนับสนุนจากภาวะตลาดแรงงานและการบริโภคในประเทศ ตลาดจึงคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ธ.ค.อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าการปรับขึ้นน่าจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปเพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

ด้านเศรษฐกิจยุโรปปรับตัวดีขึ้นตามการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ แต่ภาวะการลงทุนที่ยังค่อนข้างอ่อนแรง และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับใกล้ศูนย์ ทำให้ธนาคารกลางยุโรปผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม และเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาส 3/58 ตามการฟื้นตัวของการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก สำหรับเศรษฐกิจจีนยังคงโน้มชะลอตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจเอเชียอื่นๆ (ไม่รวมญี่ปุ่น) ชะลอตัวตาม โดยเฉพาะประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีนสูงและยังส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ

"ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจเอเชียรวมถึงไทยจะยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน ซึ่งทำให้สัดส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต ขณะที่การฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลักจะช่วยชดเชยผลกระทบจากจีนได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงจากในอดีตเช่นกัน นอกจากนั้น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกเป็นความเสี่ยงที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นภายหลังเหตุก่อการร้ายในฝรั่งเศส โดยอาจส่งผลถึงแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปและบรรยากาศการท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างน้อยในระยะสั้น" รายงาน กนง.ระบุ

สำหรับภาวะตลาดเงินยังคงเคลื่อนไหวผันผวนโดยขึ้นอยู่กับการคาดการณ์เกี่ยวกับช่วงเวลาที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เมื่อมีแนวโน้มชัดเจนขึ้นว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค.สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าตลาดคาด ประกอบกับการสื่อสารทิศทางนโยบายอย่างต่อเนื่องโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ นักลงทุนจึงปรับลดการถือครองสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความผันผวนของตลาดการเงินปรับสูงขึ้น และเงินบาทเทียบกับดอลลาร์อ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อน อย่างไรก็ดี ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ค่อนข้างทรงตัวเนื่องจากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในภูมิภาค

กนง.ประเมินว่าตลาดการเงินอาจมีความผันผวนสูงขึ้นในระยะข้างหน้า จากการดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางที่แตกต่างกันมากขึ้นของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่คาดว่าผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดต่อตลาดการเงินไทยจะไม่มาก โดยเฉพาะหากเฟดดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ อาจมีสัญญาณของเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากไทยบ้าง ซึ่งจะกดดันให้ราคาหลักทรัพย์ปรับลดลง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุนของภาคเอกชนอาจปรับสูงขึ้นบ้างในระยะต่อไป

"คณะกรรมการฯ ประเมินว่าภาวะการเงินที่ผ่อนคลายของไทยในปัจจุบัน จะไม่ถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง หนี้ต่างประเทศต่อ GDP ที่อยู่ในระดับต่ำ และฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง" รายงาน กนง.ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ