บอร์ดรฟม.หั่นกรอบวงเงินลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มอีกกว่า 1 พันลบ.,เคาะค่าโดยสารสายสีม่วง 14-42 บ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 14, 2016 08:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดรฟม. เมื่อวันที่ 13 ม.ค. มีมติเห็นชอบการปรับกรอบเงินลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 21.2 กม. จากกรอบเดิม 95,108 ล้านบาท ลดลง 1,028 ล้านบาท เหลือ 94,080 ล้านบาท หลังจากได้พิจารณาปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ยังมีวัสดุที่จำเป็นต้องนำเข้าเนื่องจากผลิตในประเทศไม่ได้ เช่น ราง โครงสร้างรับทางวิ่ง พัดลมระบายอากาศในอุโมงค์ เป็นต้น

พล.อ.ยอดยุทธ กล่าวว่า จะเสนอกลับไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา ภายใน 30 วันนับ โดยระหว่าง รอครม.อนุมัติ รฟม.จะจัดทำรายละเอียดราคากลางเพื่อเตรียมพร้อมในการทำTOR ไว้ โดยจะเร่งเปิดประมูลภายใน 3 เดือนหลังครม.อนุมัติกรอบวงเงินใหม่

นอกจากนี้ยังเห็นชอบอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ระยะทาง 23 กม. โดยบุคคลทั่วไป เริ่มต้น 14 บาท สูงสุด 42 บาท (ค่าแรกเข้า 14 บาท และเก็บตามระยะทาง กม.ละ 2 บาท) โดยได้พิจารณาอย่างรอบคอบทั้งประเด็นอัตราที่ใกล้เคียงกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมงคล และประมาณการณ์จำนวนผู้โดยสาร โดยจะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมและครม. ต่อไป

ทั้งนี้ รฟม.ได้ทำสัญญากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้เป็นบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีม่วง ในรูปแบบ PPP –Gross Cost หรือจ้างบริหารเดินรถ โดยรฟม.เป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าโดยสารเอง ซึ่งเท่ากับจะรับความเสี่ยงเอง พร้อมกันนี้ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง กรณีผู้โดยสารใช้บริการสายสีม่วงเชื่อมกับสายสีน้ำเงิน เฉลิมรัชมงคล จะได้รับการยกเว้นค่าแรกเข้าของสายสีน้ำเงิน ที่ 16 บาท เช่น ใช้บริการจากสถานีบางใหญ่-หัวลำโพง ค่าโดยสารตลอดสาย 70 บาท โดยในส่วนของค่าแรกเข้าสายสีน้ำเงินนั้นรฟม.จะรับภาระจ่ายให้ BEM แทน

ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรฟม. กล่าวว่า ในการกำหนดค่าโดยสารสายสีม่วงนั้น รฟม.ได้ประเมินจากหลายปัจจัยโดยคำนึงถึงผู้โดยสารเป็นหลัก ซึ่งพบว่า อัตรา 14-42 บาทนั้นเหมาะสม ยอมรับได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางแบบอื่น รวมถึงต้องมีความสะดวกในการใช้บริการ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า รายได้ของสายสีม่วงจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือไม่ ซึ่งหากไม่เพียงพออาจจะต้องเสนอการสนับสนุนภาครัฐบาล

อย่างไรก็ตามในช่วงเริ่มเปิดให้บริการ จะมีปัญหาในการเชื่อมต่อระหว่างสายสีม่วงกับสายสีน้ำเงิน โดยช่วง 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) ยังไม่มีการเดินรถ ซึ่งรฟม.อยู่ระหว่างคิดรูปแบบการให้บริการ เช่น จัดเดินรถบีอาร์ที หรือบัสเลน โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารถึง 6,000 คน/ชม.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ