กนอ.เคาะราคาขาย-เช่าที่ดินรับเบอร์ซิตี้ หวังใช้มาตรการราคาดึงนลท.เข้าลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2016 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.กำหนดราคาขายที่ดินและอัตราค่าเช่าพื้นที่ประกอบอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือ รับเบอร์ซิตี้ พื้นที่จังหวังสงขลา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ทั้งนี้ราคาและอัตราค่าเช่าที่กำหนดจะแตกต่างกันตามโซน การประกอบการอุตสาหกรรมในคลัสเตอร์ยาง อาทิเช่น เขตประกอบการยางขั้นกลางน้ำ หรือ ปลายน้ำ เป็นต้น ซึ่งราคาขายเริ่มต้นที่ 2.7 ล้านบาท- 3.5ล้านบาท ต่อไร่ ส่วนอัตราค่าเช่าเริ่มต้นที่ 1.7แสนบาทต่อไร่ต่อปี ถึง 2.2 แสนบาทต่อไร่ต่อปี

ทั้งนี้ กนอ.ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการขายและเช่าที่ดิน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินการของผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการที่ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินภายใน 30 เมษายน 2559 จะได้รับส่วนลด 15 % และหากผู้ประกอบการมีความประสงค์ซื้อที่ดินเพิ่ม (เป็นพื้นที่ติดต่อกันจากแปลงแรก) เพื่อการขยายการลงทุนไม่น้อยกว่า 20 ไร่ จะได้รับส่วนลดเพิ่มอีก 5% ฟรีค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ยกเว้นค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก

สำหรับ มาตรการเช่าที่ดินมีการกำหนดมาตรการเข้าใช้ที่ดิน โดยยกเว้นค่าเช่าฟรี 3-5 ปี ฟรีค่าจดทะเบียนการเช่า รวมทั้งยกเว้นค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก 3-5 ปี โดยจะต้องทำสัญญาเช่าภายใน 30 เมษายน 2559

"กนอ.ได้ออกมาตรการส่งเสริมการขายและเช่าที่ดินในนิคมฯยางพาราที่สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมด้านการลงทุนและที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคายางพาราให้มีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงต้นปี 2559 โดยไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรแต่อย่างใดแต่มีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อกระตุ้นให้เกิดการประกอบการอุตสาหกรรมยางพารา และลดต้นทุนการดำเนินการของผู้ประกอบการ รวมถึงการสร้างประโยชน์ให้กับภาคเกษตรกรชาวสวนยาง โดยคาดว่าการออกแคมเปญกระตุ้นการขายที่ดินและเช่าที่ดินในระยะแรกนี้ จะส่งผลให้เกิดการลงทุนให้กับนิคมฯยางพาราได้อย่างแท้จริง"นายวีรพงศ์ กล่าว

นายวีรพงศ์ กล่าวว่า เชื่อว่าโครงการนิคมยางพาราจะช่วยส่งเสริมการประกอบการให้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีส่วนผสมของยาง สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมให้นำยางมาใช้เพื่อผลิตภัณฑ์ยางในด้านต่างๆ อาทิ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และ ยางสำหรับยานยนต์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางและเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมยางในอนาคตมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ