พาณิชย์ ปรับบทบาทเน้นการค้าบริการและการตลาดแทนภาคการผลิต เตรียมจัดทำดัชนีชี้วัด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนค.) กล่าวในโอกาสจัดงานครบรอบ 1 ปี ของการจัดตั้งสำนักงานฯ ว่า สนค. ได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ทำหน้าที่เป็นคลังสมองของกระทรวง ในการกำหนดทิศทางนโยบายทิศทางการค้าของประเทศ เสนอแนะและจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าในเชิงรุก และร่วมกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ
"1 ปีที่ผ่านมา สนค. ได้วางรากฐานและกำหนดทิศทางการทำงาน โดยกำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรหลักในการชี้นำทิศทางเศรษฐกิจการค้าไทยที่มองไกลและมีหลักการ และวางยุทธศาสตร์ในการทำงาน 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งทางการค้า การสร้างโอกาสทางการค้า การสร้างเสถียรภาพการค้า และการสร้างระบบข้อมูลการค้า ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางการค้า และสร้างโอกาสทางการค้า สนค. ได้กำหนด โครงการเชื่อมโยงกับอาเซียน (AEC Connect)"

ทั้งนี้ สนค. กำลังร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ฯ ศึกษาจัดทำแผนการสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าของไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ศึกษาจัดทำแผนการนำสินค้าไทยเข้าตลาดอาเซียน และร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาแผนการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับประเทศอาเซียน

"สนค. ตั้งความหวังว่า การศึกษาร่วมกันนี้จะนำไปสู่ข้อเสนอยุทธศาสตร์และแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของไทย เพื่อนำเสนอกระทรวงพาณิชย์และผลักดันการขับเคลื่อนผ่านสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้ง จะมีต้นแบบการนำสินค้าไทยเข้าตลาดอาเซียนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยของไทย"

นายสมเกียรติ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาปรับบทบาทของกระทรวงฯ ไปเน้นการค้าบริการมากขึ้น และการใช้การตลาดนำเศรษฐกิจ สำหรับการปรับไปสู่การค้าบริการ สนค. เริ่มการศึกษาเพื่อรวบรวมข้อมูล สถิติ การค้าบริการ ซึ่งขณะนี้กำลังเตรียมจัดทำดัชนีค่าขนส่งอาเซียนและดัชนีการค้าปลีก เพื่อใช้วัดและติดตามภาวะการค้าบริการ ซึ่งจะขยายกรอบการศึกษาให้กว้างครอบคลุมบริการสาขาอื่นๆ และจะได้พิจารณาสถาบันวิชาการ ที่จะมาร่วมกันศึกษาเสนอแนะแผนงานการสร้างโอกาสการค้าบริการต่อไป

ส่วนการปรับไปสู่การตลาดนำเศรษฐกิจ หรือดีมานด์ดริเว่น (Demand Driven) จะเป็นการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเศรษฐกิจการค้าตอบสนองต่อความต้องการของตลาดหรือผู้ซื้อ เพื่อลดปัญหาสินค้าและบริการมีปริมาณเกินความต้องการของตลาด รวมทั้งลดปัญหาสินค้าบริการมีคุณภาพไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วย ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างเสถียรภาพทางการค้า สนค.ให้ความสำคัญกับการเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค ผู้ใช้ และกลไกตลาดในประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากการมีเจ้าหน้าที่เก็บราคาสินค้าทั่วประเทศ มาทำการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค ในอนาคตจะขยายไปยังข้อมูลกลไกตลาดในประเทศ และพฤติกรรมและกลไกตลาดต่างประเทศที่นำไปสู่ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ทั้งเพื่อเสถียรภาพทางการค้าและโอกาสทางการค้าภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบข้อมูลเศรษฐกิจการค้า (Trade Intelligence System)

ทั้งนี้ สนค. กำลังวางระบบเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการค้าที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานภายในและภายนอก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการของภาครัฐ และการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน โดยเฉพาะข้อมูลความต้องการของตลาด หรือดีมานด์ ซึ่ง สนค. จะวางระบบให้ข้อมูลตลาดหลั่งไหลเข้ามาจากสำนักงานของกระทรวงทั้งในและต่างประเทศ ทำการประมวลและวิเคราะห์ ก่อนเผยแพร่กลับไปสู่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ค้า ให้สามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้

นายสมเกียรติ กล่าวย้ำว่า สนค. ให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ภาคเอกชนและสถาบันวิชาการ ตามแนวนโยบายประชารัฐของรัฐบาล เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของ สนค. ให้สามารถเสนอแนะนโยบายที่สามารถปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ