(เพิ่มเติม) คลัง แจงธนาคาร AIIB ถือเป็นอีกทางเลือกแหล่งทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2016 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ความริเริ่มในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Development Bank: AIIB) เพื่อเป็นกลไกทางการเงินระหว่างประเทศในระดับพหุภาคี (Multilateral Financing Mechanism: MFM) ที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย เริ่มขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2556 โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมหารือในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง (Founding Members) ร่วมกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งสิ้น 57 ประเทศ ขณะนี้มีประเทศสมาชิกที่ให้สัตยาบันแล้ว 30 ประเทศ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 AIIB ได้มีพิธีเปิดทำการธนาคารอย่างเป็นทางการ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 59 ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ได้แก่ การอนุมัติวงเงินลงทุนในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Development Bank: AIIB) ในส่วนของประเทศไทยตามสัดส่วนที่ได้รับตามขนาดเศรษฐกิจ คิดเป็น 1.4275% ของเงินทุนจดทะเบียนของ AIIB รวมถึงคณะรัฐมนตรียังได้เห็นชอบให้นำร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับ ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย พ.ศ. .... พร้อมด้วยข้อบทของความตกลงว่าด้วยธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Articles of Agreement of AIIB) ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2558 เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบท ของความตกลงฯ และเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวแล้ว ประเทศไทยจะสามารถดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันต่อความตกลงฯ เพื่อเข้าเป็นสมาชิกของธนาคารอย่างสมบูรณ์ต่อไป

การเปิดดำเนินการของธนาคาร AIIB ถือเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนทางเลือกสำหรับการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน และในสาขาการผลิตอ่นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศสมาชิกรวมถึงประเทศไทย โดยภูมิภาคเอเชียยังมีความต้องการเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในด้านพลังงาน การคมนาคมขนส่ง และการสื่อสาร ซึ่งการดำเนินงานของธนาคารจะสอดคล้องกับแนวนโยบายของ รัฐบาลไทยในอันที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันของประเทศสมาชิกในภูมิภาค การพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและ สังคมในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยจะเริ่มมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อยู่หลายโครงการในขณะนี้ แต่มองว่าปีนี้ประเทศไทยอาจยังไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคาร AIIB เนื่องจากไทยยังมีสภาพคล่องสูง ส่วนในปีหน้านั้นคงต้องพิจารณาจากตลาดในประเทศ รวมทั้งสภาพคล่องภายในประเทศที่เหลืออยู่ก่อนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องขอกู้หรือไม่ ซึ่งหลักการกู้เงินจาก AIIB เป็นในลักษณะเช่นเดียวกับ World Bank และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB)

“การจะพิจารณาขอกู้เงินจาก AIIB นั้น มองว่าประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็น เพราะเรายังมีสภาพคล่องสูง ยังมีเงินที่จะใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้เอง แต่ปีหน้าคงต้องดูตลาดในประเทศก่อน ดูว่าเรามีทุนพอหรือไม่ ดูสภาพคล่องที่เหลือยู่ด้วย ต้องขึ้นกับหลายองค์ประกอบ" นายกฤษฎา กล่าว

ทั้งนี้ วงเงินลงทุนรวมทั้งหมดในการจัดตั้งธนาคาร AIIB อยู่ที่ 1 แสนล้านดอลลาร์ โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศสมาชิกที่จะใส่เงินทุนลงไปในการจัดตั้งธนาคาร AIIB สูงสุดเป็นอันดับ 10 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 57 ประเทศ โดยไทยจะใส่เงินทุนลงไป 1.4275% หรือคิดเป็นเงินราว 285.51 ล้านดอลลาร์ แบ่งการชำระเงินไว้ 5 ปีๆละประมาณ 57 ล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ