ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทระหว่างวันในวันนี้ ก่อนที่ตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวจะออกมา คาดว่าจะอยู่ในกรอบระหว่าง 35.45-35.75 บาท/ดอลลาร์
ล่าสุด SPOT อยู่ที่ระดับ 35.5300 บาท/ดอลลาร์ ส่วน THAI BAHT FIX 3M(4 ก.พ.) อยู่ที่ 1.55336% และ THAI BAHT FIX 6M(4 ก.พ.) อยู่ที่ 1.64011%
- ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 116.87 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 117.73/76 เยน/ดอลลาร์
- ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1200 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่อยู่ที่ระดับ 1.1164/1168 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 35.6230 บาท/ดอลลาร์
- กระทรวงการคลัง คลังเล็งขยายวงเงิน 'ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์' เพิ่มจากก้อนแรก 1 แสนล้าน หลังเนื้อหอมต่างชาติ รุมตอมขอร่วมลงทุน ทั้งจีน-โอมาน ส่วนในประเทศมีทั้งกบข.-ประกันสังคม เนื่องจากรัฐค้ำประกัน ผลตอบแทนขั้นต่ำ เริ่มดำเนินการได้กลางปี
- นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยภายในงานเสวนา "รู้ทัน TPP จากมุมมองนักวิชาการ" ที่กระทรวงการต่างประเทศ ว่า ปัจจุบันการส่งออกของไทยติดลบอย่างต่อเนื่องและในปีนี้ก็มีแนวโน้มที่ขยายตัวได้เพียง 0% เท่านั้น และยังพบว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ของไทย ก็ยังมีแนวโน้มลงลดอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับประเทศในอาเซียน อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม ที่พบว่ามีสัดส่วนของเอฟดีไอเพิ่มขึ้นประมาณ 1-3 เท่า และเอฟดีไอที่เข้ามาลงทุนในไทยส่วนใหญ่ลงทุนในภาคบริการขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและการผลิตลงทุนน้อยมาก
- นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า โครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือน ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา มี 17 โครงการ จำนวน 6,500 หน่วย แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 5 โครงการ จำนวน 4,000 หน่วย และบ้านจัดสรร 12 โครงการ จำนวน 2,500 หน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเดือน ม.ค. 2558 ที่จำนวนโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่รวม 3,500 หน่วย แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 1,200 หน่วย และบ้านจัดสรร 2,300 หน่วย ซึ่งจะเห็นว่าเพิ่มขึ้นทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร
- ธนาคารโลกชี้เสถียรภาพการเมือง ปัจจัยเสี่ยงฉุดลงทุนไทย เชื่อปีนี้ไม่ใช่ "ปีแห่งการลงทุน" ระบุสิทธิประโยชน์ไม่ใช่ประเด็นใหญ่แต่อุปสรรคสำคัญคือขาดแคลนแรงงาน ด้าน "ปลัดคลัง" เผยต่างชาติสนใจ "ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์" หลังไทยไม่ลงทุนนับ 10 ปี ขณะรัฐวิสาหกิจลงทุนไตรมาสแรกต่ำเป้า
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากสัญญาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นแข็งแกร่งในช่วงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด รวมทั้งความไม่แน่นอนที่ว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะปรับลดกำลังการผลิตหรือไม่ โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 56 เซนต์ หรือ 1.7% ปิดที่ 31.72 ดอลลาร์/บาร์เรล สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 58 เซนต์ หรือ 1.7% ปิดที่ 34.46 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) เพราะได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และหลังจากเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า เฟดยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย.พุ่งขึ้น 16.2 ดอลลาร์ หรือ 1.42% ปิดที่ระดับ 1,157.50 ดอลลาร์/ออนซ์
- ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลงเมื่อเทียบสกุลเงินหลักส่วนใหญ่เมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้มีกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
- กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้วพุ่งขึ้นมากกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้น 8,000 ราย สู่ระดับ 285,000 ราย โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 280,000 ราย
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐร่วงลงหนักที่สุดในรอบ 1 ปีในเดือนธ.ค.
- บริษัท โกลด์แมน แซคส์ออกรายงานฉบับหนึ่งในวันนี้ ระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.
การคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวของโกลด์แมน แซคส์เป็นการปรับลดลงจากที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นจำนวน 4 ครั้งในปีนี้
- นายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องใช้ความอดทนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัว และภาวะตึงตัวมากขึ้นในตลาดการเงินโลก
- ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปในระยะใกล้นี้ ขณะที่ทางธนาคารได้แสดงความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ BoE ซึ่งได้ลงมติให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งก่อน ก็ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
- คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ประกาศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน หลังจากที่เผชิญกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้า และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด รวมทั้งอัตราการว่างงานที่พุ่งขึ้นถึง 2 หลัก
ทั้งนี้ EC คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของยูโรโซนจะขยายตัว 1.7% ในปีนี้ ลดลงจาก 1.8% ที่คาดการณ์เมื่อเดือนพ.ย.