ครม.อนุมัติมาตรการวงเงินกว่า 1 แสนลบ.ช่วยผู้ประกอบการ SME-เกษตรกรเพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 23, 2016 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้เห็นชอบมาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีและเกษตรกร ได้แก่ มาตรการสินเชื่อเพื่อยกระดับคุณภาพเกษตรกรตามโครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ตั้งแต่ปีที่ 1-7 ส่วนปีที่ 8-10 คิดอัตราดอกเบี้ยตามปกติ

"ก่อนหน้านี้รัฐช่วยเอสเอ็มอีด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมไปแล้ว คราวนี้จะมาช่วยด้านเกษตรกรรมให้ยกระดับเป็นผู้ผลิตและผู้ค้าต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า"นายอภิศักดิ์ กล่าวภายหลังการประชุม ครม.

มาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ภาคการเกษตร ประกอบด้วย ผู้ประกอบการรายคน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือบริษัทชุมชน จำนวน 7,200 ราย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน (ประมาณการจ้างงานได้ 5-30 คนต่อกิจการ)

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติมาตรการเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ประสบภัยแล้งวงเงิน 6 พันล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะปล่อยกู้ให้รายละ 1.2 หมื่นบาท จำนวน 5 แสนราย ระยะเวลาเงินกู้ 12 เดือน ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก(รัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ 500ล้านบาท) ส่วนอีก 6 เดือนหลังจะคิดดอกเบี้ยอัตรา 4% สำหรับเกษตรกรลูกค้ารายย่อยของ ธ.ก.ส. ที่ปัจจุบันมีวงเงินกู้ต่อรายรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งมีอยู่จำนวน 500,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ไม่สามารถทำการผลิตได้หรือผลผลิตได้รับความเสียหาย ทำให้มีรายได้ลดลงกว่า 50% จากรายได้ปกติ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน พร้อมทั้งก่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและช่วยป้องกันการก่อหนี้สินนอกระบบของเกษตรกร

"เกษตรกรจะได้มีเงินที่จะนำไปใช้เตรียมการเพาะปลูกหรือปรับปรุงเครื่องมือเกษตร โดยไม่ต้องไปเป็นหนี้นอกระบบ"นายอภิศักดิ์ กล่าว

สำหรับมาตรการต่อมาเป็นการให้สินเชื่อกับเกษตรกรที่รวมตัวเป็นกลุ่มให้ปรับเปลี่ยนพืชเพาะปลูก วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด จำนวน 100,000 ราย ที่มีความสมัครใจและตั้งใจในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอย่างแท้จริงและผ่านการคัดเลือกจากชุมชน (ชุมชน ได้แก่ กลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส. กลุ่มอาชีพ หรือวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพและอยู่ในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 26 จังหวัด) ใช้เป็นค่าเช่าที่ดิน ค่าปัจจัยการผลิต และค่าจ้างแรงงานให้กับเกษตรกร โดยกำหนดวงเงินกู้กลุ่มละไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน

"เราจะใช้วิกฤตจากภัยแล้งเป็นโอกาสให้ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่น" นายอภิศักดิ์ กล่าว

พร้อมกันนั้น ยังมีมาตรการค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 1.35 หมื่นล้านบาทให้กับเอสเอ็มอีรายละไม่เกิน 2 แสนบาท โดยรัฐจะอุดหนุนค่าค้ำประกันในปีแรก เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs และช่วยลดปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบของผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs แต่ครั้งนี้ได้มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมคือต้องเป็นผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ที่มีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 5 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะรับค้ำประกันต่อรายสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาการค้ำประกัน 10 ปี จ่ายค่าประกันชดเชยสูงสุดไม่เกิน 20% บวกกับค่าธรรมเนียมที่ได้รับ และรัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการในปีแรก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถรับคำขอค้ำประกันได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.60 ซึ่งโครงการค้ำประกันสินเชื่อดังที่กล่าวข้างต้น จะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs ไทย รวมทั้งยังก่อให้เกิดเม็ดเงินมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

และยังจะมีมาตรการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีจัดทำบัญชีเดียวสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจ้างนักศึกษาด้านบัญชีและพาณิชย์เข้ามาดำเนินการมาหักภาษีได้ทั้ง 100% ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งเอสเอ็มอีและเป็นการสร้างรายได้/ประสบการณ์ให้กับนักศึกษาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ