สถาบันอาหาร ตั้งเป้ามูลค่าส่งออกปีนี้ 9.5 แสนลบ. เพิ่มขึ้น 5.8% แนะหาช่องขยายอาหารสำเร็จรูป

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 25, 2016 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงกล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่า 950,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ นโยบายการเปิดตลาดใหม่ของภาครัฐ เช่น ตะวันออกกลาง, แผนงานและโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ “10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย : กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)", เศรษฐกิจที่ขยายตัวจากการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV ส่งผลทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น และสินค้าอาหารไทยได้รับความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย

พร้อมตั้งเป้าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 5%

ส่วนปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภัยแล้งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูป, ภัยสงคราม ความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ(MENA) อาจส่งผลให้คู่ค้ามีปัญหาในการชำระเงินค่าสินค้า, เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันรวมทั้งสินค้าเกษตร, ปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย (Tier 3) และการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) อาจกระทบต่อสินค้าในหมวดอื่นๆ ของไทยในอนาคต, การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ เช่น การลดค่าเงินหยวนของจีน การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่น และราคาน้ำมันลดลงส่งผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรอาหารลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้สินค้าส่งออกหลักจำนวน 8 สินค้า คาดว่าจะมีสัดส่วนส่งออก 58% ของสินค้าอาหารส่งออกทั้งหมด จำแนกเป็น ข้าว 15.8% ปริมาณ 9 ล้านตัน มูลค่า 150,500 ล้านบาท, ไก่ 9.5% ปริมาณ 7.2 แสนตัน มูลค่า 90,600 ล้านบาท, น้ำตาลทราย 9.5% ปริมาณ 7.5 ล้านตัน มูลค่า 90,200 ล้านบาท, ปลาทูน่ากระป๋อง 7.8% ปริมาณ 6.2 แสนตัน มูลค่า 74,166 ล้านบาท, กุ้ง 6.7% ปริมาณ 1.9 แสนตัน มูลค่า 63,200 ล้านบาท, แป้งมันสำปะหลัง 4.3% ปริมาณ 2.90 ล้านตัน มูลค่า 40,600 ล้านบาท, เครื่องปรุงรส 2.3% ปริมาณ 3.2 แสนตัน มูลค่า 21,700 ล้านบาท และสับปะรดกระป๋อง 2.1% ปริมาณ 5.4 ล้านตัน มูลค่า 20,220 ล้านบาท

กลุ่มสินค้าที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ไก่ จะเพิ่มขึ้นราว 3% จากตลาดญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ซึ่งเป็นตลาดใหม่ ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10% ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง โดยต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ราคาวัตถุดิบทูน่าแช่แข็ง ซึ่งมีต้นทุนมากกว่า 50% ของการผลิต โดยจะอิงกับราคาเชื้อเพลิงเป็นหลัก กุ้ง เนื่องจากประเทศคู่แข่งหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย กำลังประสบปัญหาโรคระบาด จึงเป็นโอกาสของไทยในการดึงส่วนแบ่งตลาดที่เสียไปกลับคืนมา เครื่องปรุงรส เนื่องจากเป็นสินค้าคุณภาพดีและมีเอกลักษณ์ และมีตลาดกระจายอยู่ทั่วโลกโดยไม่ได้พึ่งพิงตลาดหนึ่งตลาดใดในสัดส่วนที่มากเกินไปสำหรับ สับปะรดกระป๋อง คาดว่าปริมาณจะเพิ่มขึ้น 10% ส่วนมูลค่าเพิ่มขึ้น 5%

"กุ้งไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จากที่เราเคยมีปัญหาเรื่องโรคระบาดแต่ก็สามารถแก้ปัญหาโรคตายด่วน หรือ EMS จบ และผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นลำดับทำให้ปี 59 จะเป็นโอกาสพลิกฟื้นของอุตสาหกรรมกุ้งไทย"นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานหอการค้าไทย สภาหอการค้าไทย กล่าวเสริม

กลุ่มสินค้าที่คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าว คาดว่าจะมีปริมาณส่งออก 9 ล้านตัน ลดลง 8.1% เมื่อเทียบกับปี 58 เนื่องจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังของไทยลดลง ทำให้ผู้ส่งออกขาดแคลนข้าวใหม่ในการส่งออก ในขณะที่ฝั่งผู้ซื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในแถบแอฟริกาก็ยังประสบภาวะเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อชะลอตัว ประกอบกับตลาดข้าวอันดับหนึ่งของไทย คือไนจีเรียตั้งกำแพงภาษีนำเข้าข้าวสูงถึง 60% รวมทั้งมีมาตรการเข้มงวดในการนำเงินดอลลาร์ออกนอกประเทศ ทำให้ผู้ซื้อขาดแคลนดอลลาร์ในการชำระค่าข้าว ตลาดข้าวในแอฟริกาโดยเฉพาะไนจีเรียจึงชะลอตัวต่อไป ส่วนน้ำตาลทราย ปริมาณลดลงเล็กน้อย 1.2% เนื่องจากภัยแล้งทำให้พื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยลดลง และยังทำให้ระดับความหวานของอ้อยมีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพน้ำตาลที่จะผลิตได้ สำหรับแป้งมันสำปะหลัง ประสบปัญหาวัตถุดิบมีไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงาน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมีการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านมาแปรรูปมากขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศกัมพูชาคาดว่าปริมาณจะลดลง 1.0%

“ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา(2541-2558) รูปแบบสินค้าอาหารส่งออกของไทยมีแนวโน้มพัฒนาไปสู่การเป็นสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมากขึ้น โดยในปี 2541 สัดส่วนส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมีเพียง 35% อีก 65% เป็นการส่งออกอาหารสด/วัตถุดิบ/แปรรูปเบื้องต้น แต่ปัจจุบันอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานมีสัดส่วนส่งออกสูงถึง 49% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมด มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 7% จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยในการมองหาโอกาสใหม่ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรแปรรูป พัฒนาสู่อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานเพื่อทดแทนการส่งออกอาหารแบบดั้งเดิมที่นับวันจะมีการแข่งขันสูงขึ้น"นายยงวุฒิ กล่าว

ขณะที่ภาพรวมการค้าอาหารไทยปี 2558 (ไม่รวมอาหารสัตว์) การส่งออกมีมูลค่า 897,529 ล้านบาท หดตัวลง 1.9% เมื่อเทียบกับปี 2557 ส่วนการนำเข้าอาหารมีมูลค่า 356,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8%

สัดส่วนส่งออกสินค้าอาหารปี 2558 ได้แก่ ข้าว 17.4% น้ำตาลทราย 10% ไก่ 9.8% ปลาทูน่ากระป๋อง 7.5% กุ้ง 6.4% แป้งมันสำปะหลัง 4.6% เครื่องปรุงรส 2.2% สับปะรดกระป๋อง 2.1% และอีก 39.9% เป็นอาหารอื่นๆ ในกลุ่มสินค้า Rising Star ได้แก่ ผลไม้สด อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำผักผลไม้ กะทิสำเร็จรูป ผักสด นมพร้อมดื่ม ชากาแฟพร้อมดื่ม ขนมปังกรอบ บิสกิต/แวฟเฟิล/เวเฟอร์

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่าลดลง เช่นเดียวกับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ราคาสินค้าตกต่ำ รวมถึงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีการแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลของประเทศต่างๆ ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามกลุ่มวัตถุดิบจำพวกอาหารทะเล เพราะวัตถุดิบในประเทศลดลง

ในจำนวนสินค้าหลัก 8 รายการพบว่า มี 4 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย (+2.5%), ไก่ (+9.6%), แป้งมันสำปะหลัง (+0.2%), เครื่องปรุงรส (+3.8%) และสับปะรดกระป๋อง(+17.5%) ขณะที่มีสินค้า 3 รายการที่มูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว (-10.8%), ปลาทูน่ากระป๋อง (-11.8%) และกุ้ง (-10.6%)

สำหรับการส่งออกข้าวไทยลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศผู้ซื้อที่มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมัน ประกอบกับตลาดข้าวโลกมีการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวลดลง โดยไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก ที่ปริมาณ 9.8 ล้านตัน รองจากอินเดียที่ส่งออกข้าวได้ 10.23 ล้านตัน ส่วนเวียดนามเป็นอันดับที่ 3 มีปริมาณส่งออก 6.6 ล้านตัน

"แต่คาดว่าราคาข้าวปี 2559 นี้จะดีกว่าปีที่แล้วเพราะภัยแล้ง เอลนิญโญ่ ทำให้ผลผลิตทั่วโลกลดลง"นายยงวุฒิ กล่าว

ส่วนปลาทูน่ากระป๋อง การส่งออกลดลงมากในเชิงมูลค่าตามทิศทางราคาวัตถุดิบทูน่าที่อ่อนตัวลงตามราคาน้ำมัน ส่งผลทำให้สินค้าสำเร็จรูปมีราคาอ่อนตัวตามไปด้วย

สำหรับกุ้ง แม้ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มูลค่าส่งออกลดลงมากตามทิศทางราคาส่งออกที่มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตกุ้งโลกสูงขึ้นจากการขยายการกำลังการผลิตกุ้งในประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย รวมทั้งผลผลิตกุ้งไทยมีขนาดเล็กลง เนื่องจากเกษตรกรต้องเร่งจับกุ้งขายเร็วขึ้น เพราะยังเกรงปัญหาโรคตายด่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ