บสย.แจง 4 แผนงานปี 59 วางเป้ายอดค้ำประกัน 1 แสนลบ.หนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 8, 2016 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยทิศทางการดำเนินงาน บสย.ปี 59 ว่า มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ขับเคลื่อนแผนงานไปในทิศทางเดียวกับแผนงานของรัฐบาล ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผลดำเนินงานในปีที่ผ่านมา บสย.สามารถช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้กว่า 7 หมื่นราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายย่อยสูงถึง 5 หมื่นราย และมียอดค้ำประกันรวมกว่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับทิศทางและแผนการดำเนินงานในปีนี้ ประกอบด้วย 4 แผนงาน ดังนี้ แผนงานที่ 1 การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 2.7 ล้านราย ให้เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ประกอบด้วย ผู้ประกอบการทั่วไป กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มผู้ประกอบการพิเศษ เช่น กลุ่มนวัตกรรม (Innovation) และกลุ่มเริ่มต้น (Start-up) ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบใหม่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ บสย. ได้ให้ความช่วยเหลือค้ำประกันสินเชื่อกับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ภาคการเกษตรภายใต้โครงการรัฐบาล 1 ตำบล 1 SMEs เกษตร ซึ่งขณะนี้ บสย. ได้เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านการค้ำประกันสินเชื่อแล้ว โดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)

แผนงานที่ 2 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่ม โดยปัจจุบัน บสย. มีผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS 5 (ปรับปรุงใหม่) สำหรับผู้ประกอบการทั่วไปขนาดกลางและเล็ก วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติวงเงินค้ำประกันไปแล้ว 58,000 ล้านบาท เหลืออีกป 42,000 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการรับคำขอในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 โดยวางแผนว่าจะนำเสนอโครงการใหม่ภายในปีนี้ และจะดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 3 ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากธนาคาร

และ ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการกลุ่มนวัตกรรม (Innovation SMEs) และกลุ่มเริ่มต้น (Start-up) ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักรบใหม่ วงเงินค้ำประกันรวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอกระทรวงการคลัง

รวมทั้ง ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย (ระยะ 2) ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติไปแล้วเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วงเงิน 13,500 ล้านบาท ค้ำประกันสูงสุดรายละไม่เกิน 200,000 บาท โดยปรับเกณฑ์สินทรัพย์ถาวร จาก 200 ล้านบาท เหลือ 5 ล้านบาท เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้จำนวนรายมากขึ้น และจะสิ้นสุดโครงการในปี 2560 โดยคาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการรายย่อยได้ 135,000 ราย

นอกจากนี้ บสย.ยังได้เตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้า อาทิ กลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank) ซึ่งขณะนี้ ร่างกฏหมายที่มีการแก้ไขได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง และอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

แผนงานที่ 3 การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อผู้ประกอบการ SMEs เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs (Financial Literacy) โดยออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ SMEs แต่ละกลุ่ม โดยให้ฝ่ายกิจการสาขาทั้ง 11 แห่ง ร่วมกับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

แผนงานที่ 4 การพัฒนาองค์กรและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายใน ด้านการค้ำประกันสินเชื่อและการออกหนังสือค้ำประกันให้รวดเร็วขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตและการใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้น โดยปีที่ผ่านมา บสย. ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาโครงการค้ำประกันสินเชื่อออนไลน์

"ทั้ง 4 แผนงานนี้ จะเป็นทิศทางการขับเคลื่อนการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดย บสย.ตั้งเป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อที่จะช่วยผู้ประกอบการได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ราย คาดว่าจะสามารถผลักดันยอดค้ำประกันให้ได้ 100,000 ล้านบาท" นายนิธิศ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ