กฟผ.คาดพีคปีนี้อยู่ที่ 28,500 MW ช่วงปลายเม.ย.-ต้นพ.ค.หลังอากาศร้อน-แล้งจัด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 18, 2016 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ซึ่งการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ประจำวันมีสถิติเพิ่มสูงขึ้นตามสภาพอากาศและอุณหภูมิที่สูงขึ้นเช่นกัน คาดการณ์ว่า Peak ในปี 2559 น่าจะอยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์ ภายใต้อุณหภูมิที่คาดว่าจะสูงขึ้นถึง 38.5 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นจากเดิม 4.1% โดยคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคมนี้

"สถิติ Peak ปี 58 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 เวลา 14.02 น. อยู่ที่ 27,345.8 เมกะวัตต์ อุณหภูมิ 36.7 องศาเซลเซียส และคาดว่า Peak ของปี 2559 น่าจะสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากอากาศร้อนและแล้งจัดจากภาวะเอลนิโญ"นายสุธน กล่าว

นายสุธน กล่าวอีกว่า ตามที่มีข่าวว่าช่วงวันที่ 17-19 มีนาคมนี้ ประเทศไทยจะร้อนที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และมีความกังวลเรื่องมวลอากาศเปลี่ยนเป็นคลื่นความร้อน (Heat wave) นั้น พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประจำวันที่ 17 มีนาคม 2559 อยู่ที่ 27,002.4 เมกะวัตต์ อุณหภูมิ 36.1 องศาเซลเซียส ยังไม่ทำลายสถิติเดิมของปี 2558

ทั้งนี้ กฟผ. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมกำลังผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยมีโรงไฟฟ้าที่เพิ่งทยอยจ่ายไฟได้ในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นในปีนี้ เช่น โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 โรงไฟฟ้าหงสา ชุดที่ 3 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ตลอดจนมีมาตรการหลีกเลี่ยงแผนบำรุงรักษาในช่วงหน้าร้อน มีการสำรองน้ำมันเตาและก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มขึ้น เป็นต้น จึงให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ากฟผ. สามารถดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ไม่มีปัญหากับผู้ใช้ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้าอีกทางหนึ่ง โดยปิดไฟดวงที่ไม่ได้ใช้ ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศาเซลเซียส ปลดปลั๊กไฟที่ไม่ใช้ เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ และลดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ