ก.เกษตรฯ กำหนด 5 มาตรการขับเคลื่อนการจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 23, 2016 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจัดโซนนิ่งภาคเกษตรหรือการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) ซึ่งเป็น 1 ใน 6 นโยบายสำคัญของกระทรวงฯ โดยมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้ประสานงานและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ความเหมาะสมของพืชเศรษฐกิจ ประมง ปศุสัตว์ และให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการจัดทำแผนปฏิบัติการ ในการขับเคลื่อน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งได้จัดทำแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก (Agricultural Map for Dynamic Management:Agri-Map ) เพื่อใช้เป็นแผนที่สำหรับบริหารจัดการการเกษตรรายจังหวัด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต ในมิติของปัจจัยการผลิต อุปสงค์และอุปทาน โดยจะแสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกพืชของแต่ละจังหวัดว่ามีความเหมาะสมกับชนิดของดิน ปริมาณน้ำ ชนิดพืชหรือไม่ หากไม่มีความเหมาะสมจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดความสมดุล เพื่อบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และอนาคตได้ สามารถช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรได้อย่างตรงจุด

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้รายงานความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรีรับทราบในการลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ไปปรับปรุง Agri-Map ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงฯ จะได้ปรับปรุงด้านข้อมูลเพิ่มเติมและสามารถแจกจ่าย Agri-Map ไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ภายในเดือน เม.ย.นี้

ด้านนายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้กำหนดแผนปฏิบัติการในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก คือ 1.การเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ 2.กำหนดแนวโน้มความต้องการตลาดสินค้าเกษตร 3.กำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตร 4.การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ 5.การติดตามประเมินผล

ในระยะแรกได้ดำเนินการมาตรการแรกเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในวงกว้าง สู่สาธารณะ/เกษตรกร ถึงประโยชน์ของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งในภาพรวมของประเทศและท้องถิ่น ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและรับทราบถึงความสำคัญและประโยชน์ของการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม โดยผ่านกระบวนการประชุมและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ

มาตรการที่สองและที่สามเป็นการดำเนินการคู่ขนานกันไปพร้อมกัน โดยในมาตรการที่สองเป็นการกำหนดแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตร ดำเนินการโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และมาตรการที่สามกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการจัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมของที่ดิน สำหรับการผลิตสินค้าเกษตรระดับประเทศ และระดับจังหวัดรายพืช สำหรับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่เข้าใจเกี่ยวกับการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ทุกจังหวัด ทั้งนี้ได้จัดส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด จัดทำแผนที่เขตความเหมาะสมการผลิตสินค้าเกษตรระดับอำเภอ รายชนิดพืชให้กับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีอยู่อำเภอละ 1 ศูนย์ ทั้ง 76 จังหวัด เป็นจำนวน 882 ศูนย์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนและส่งเสริมในระดับพื้นที่ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ