(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออก ก.พ.59 พลิกเป็นบวก 10.27%นำเข้า -16.82%เกินดุล 4.9 พันล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 25, 2016 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน ก.พ.59 การส่งออกมีมูลค่า 18,994 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พลิกกลับมาเป็นบวก 10.27% หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องมา 13 เดือน ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 14,008 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 16.82% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4,986 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 59 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกขยายตัวได้ 0.67% มูลค่า 34,705 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าติดลบ 14.54% มีมูลค่า 29,482 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5,223 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าเหตุผลที่ส่งออกพลิกกลับเป็นบวกเนื่องจากการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้น 1,051% หลังราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับภาพรวมการส่งออกในเดือน ก.พ.59 การส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 0.4% (YoY) โดยปริมาณส่งออกสินค้าสำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ปริมาณส่งออกขยายตัว 14.2% (YoY) ยางพาราขยายตัว 4.9% (YoY) รวมทั้งทูน่ากระป๋อง (+11.0) กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป (+17.1) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป (+20.5) และน้ำตาล (+107.4)

ถึงแม้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญในเดือนก.พ.59 นี้ กลับฟื้นตัวเป็นบวก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 0.3% (YoY) เช่นเดียวกับ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป (+10.0) ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (+11.8) น้ำตาล (+78.3) ขยายตัวสูง ในขณะที่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ที่มีปริมาณการส่งออกขยายตัว แต่มูลค่าส่งออกกลับหดตัว สะท้อนปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มูลค่ากลับมาขยายตัวจากการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว และราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัว 13.8% (YoY) ปัจจัยหลักคือมูลค่าส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัวสูงถึง 208.5 (YoY) ซึ่งเป็นการขยายตัวของการส่งออกทองคำถึง 1,051% (YoY) จากราคาทองคำที่เริ่มสูงขึ้น และมีการส่งออกเพื่อเก็งกำไร เช่นเดียวกับเมื่อพิจารณา มูลค่าการส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำ ก็ขยายตัวสูงถึง 18.4% (YoY) จากการส่งออกอัญมณีจำพวก เพชร พลอย และเครื่องประดับแท้ ไปยังตลาดสำคัญ โดยเฉพาะฮ่องกงที่ขยายตัวสูงถึง 35.9 (YoY) เนื่องจากการส่งออกไปขายในงาน Hong Kong International Jewelry Fair ในช่วงต้นเดือนมี.ค.59 ที่ผ่านมา

ขณะที่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มีสัดส่วนรวมกัน 7.6% ของมูลค่าส่งออก ยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องถึง -18.5% จากปีก่อนหน้า ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือน ก.พ.59 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 29.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

เช่นเดียวกับมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญอย่างเครื่องรับโทรทัศน์ฯ หดตัวสูง (-33.2%) จากปัจจัยการย้ายฐานการผลิต รถยนต์และส่วนประกอบ (-2.1%) หดตัวจากการส่งออกรถปิคอัพ รถแวนและส่วนประกอบ ในขณะที่การส่งออกรถยนต์นั่งยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ มูลค่าส่งออกของไทยชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการชะลอการนำเข้าของประเทศคู่ค้า แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่พบว่าไทยยังมีสถานการณ์ส่งออกที่ดีกว่าภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของโลกในเกือบทุกสินค้า

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตลาดส่งออกสำคัญอย่าง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียนเดิม กลับมาขยายตัวเป็นบวก ขณะที่คู่ค้าสำคัญอย่างตลาด CLMV กลับหดตัว เช่นเดียวกับจีน ที่ยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และจากปัจจัยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเป็นสำคัญ

ในเดือน ก.พ.59 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ กลับมาขยายตัวเป็นบวก 0.3% (YoY) สหภาพยุโรป ขยายตัว 4.1% (YoY) และญี่ปุ่นขยายตัวสูงถึง 34.8% (YoY) ในขณะที่ตลาดคู่ค้าสำคัญที่ขยายตัวต่อเนื่องอย่าง CLMV กลับมาหดตัวจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งหดตัวถึงร้อยละ -5.8 (YoY) โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่หดตัวจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นอันดับแรก

เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างจีน หดตัวต่อเนื่องที่ -7.6% (YoY) จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ารวมถึงการหดตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการใช้นโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าและเน้นใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งกระทบต่อสถานการณ์มูลค่าการส่งออกของประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งไทย

สำหรับช่องทางการค้าชายแดนและผ่านแดน เติบโตต่อเนื่องจากปี 58 (มีสัดส่วนคิดเป็น 8.3% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) โดยการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา) เดือน ก.พ. 59 มีมูลค่า 82,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.96% (YoY) และระยะ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.59) มีมูลค่า 168,813 ล้านบาท ขยายตัว 1.54% (YoY) ทำให้ไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศในเดือน ก.พ.59 เป็นมูลค่า 12,382 ล้านบาท และระยะ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ. 59) ได้ดุลการค้า 24,966 ล้านบาท

ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือน ก.พ.59 มีมูลค่า 8,829 ล้านบาท หดตัว -6.06% (YoY) และระยะ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ. 59) มีมูลค่า 24,102 ล้านบาท ขยายตัว 5.10% (YoY) ทำให้เดือนก.พ.59 ไทยขาดดุลการค้าผ่านแดนรวม 3 ประเทศ เป็นมูลค่า 988 ล้านบาท และระยะ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ. 59) ขาดดุลการค้า 1,856 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมการค้าชายแดน และผ่านแดน เดือนก.พ.59 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 91,448 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.67% (YoY) และระยะ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ. 59) มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 192,914 ล้านบาท ขยายตัว 3.61 (YoY)

"การส่งออกของไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พลิกกลับมาเป็นบวกในรอบ 13 เดือนจากการขยายตัวของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่มีแนวโน้มการส่งออกดีขึ้นโดยเฉพาะในด้านปริมาณที่หลายสินค้ากลับมาขยายตัว อย่างไรก็ดียังคงต้องเฝ้าจับตามองสถานการณ์การค้าโลกที่ยังคงผันผวนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัว"เอกสารกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก อีกทั้งข้อมูลการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยแสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงตามมูลค่าส่งออก นอกจากนี้รายได้จากการส่งออกของไทยในภาคบริการยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าบริการในประเทศเติบโตตามไปด้วย ได้แก่ โรงแรมร้านอาหาร ขนส่งโทรคมนาคม ค้าปลีกค้าส่ง และตัวกลางทางการเงิน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ