ผู้ว่า ธปท.แนะวาง 4 แนวทางดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมโครงการประชารัฐเพื่อขับเคลื่อน ศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2016 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน "SET 100 ผนึกกำลังประชารัฐ" โดยเสนอแนวทาง 4 ประการที่จะเปิดให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนทั้งประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการประชารัฐเพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

แนวทางดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นเพื่อแก้ไขกฎเกณฑ์ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา และร่วมกันตรวจสอบความโปร่งใสการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องยอมเสียสละผลประโยชน์ที่เคยได้รับจากกฎเกณฑ์เดิม เพื่อให้เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติในระยะยาว

2.การเข้ามาช่วยขับเคลื่อนโครงการประชารัฐจะต้องมีความไว้วางใจกัน เพราะอาจทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าเป็นการเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ควรมีกลไกในการสร้างความไว้วางใจ เช่น คนกลางที่เป็นสถาบันการศึกษาเข้ามาติดตามและประเมินผล

3.การเข้ามาช่วยอุดช่องโหว่การบริหารงานในส่วนที่ภาครัฐไม่มีความเชี่ยวชาญ เช่น การปฏิรูปการศึกษา การบริหารจัดการน้ำ การให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการและภาครัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกถือเป็นวิธีการที่ดี เพราะภาคเอกชนมีทักษะและการบริหารแรงจูงใจ หรือผลประโยชน์เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยให้นำหลักคิดในการบริหารบริษัทมาปรับใช้เพื่อบริหารประเทศ

4.ภาคธุรกิจต้องมีจิตสำนึกความสำคัญที่จะเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพสังคม เพราะหากภาคเอกชนปล่อยปละละเลยก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในทางอ้อม เช่น ต้นทุนสูงขึ้นในเรื่องแรงงานหรือทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอ

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ธปท.ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 59 ว่าจะขายตัวที่ระดับ 3.1% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ การขยายตัวด้านท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากถึง 32 ล้านคน รวมถึงการลงทุนโครงสร้งพื้นฐานของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนที่เริ่มมีมากขึ้น

แต่ด้วยปัจจัยเสี่ยงจากการส่งออก และมูลค่าสินค้ายังคงหดตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการระมัดระวังตัวเพิ่มมากขึ้น การลงทุนของภาคเอกชนจึงอยู่ในระดับที่ต่ำ

ขณะที่ ธปท.จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนเพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และสภาวะตลาดเงินตลาดทุนที่เปราะบาง ซึ่ง ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความผันผวนของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยไม่มากนัก เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยเห็นได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูงถึง 9% ของจีดีพี หรือราว 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอีกในปีนี้ ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูงถึงกว่า 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ