(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน มี.ค.59 ติดลบ 0.46%, Core CPI ขยายตัว 0.75%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2016 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือน มี.ค.59 อยู่ที่ 105.84 ยังหดตัว -0.46% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.58 โดยยังคงได้รับผลกระทบหลักมาจากหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ลดลง -4.28% ตามแนวโน้มของราคาน้ำมั นเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ (-16.06%) และพลังงานที่ใช้ในบ้าน อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า (-4.11%) และก๊าซหุงต้ม (-9.03%) ส่งผลให้หมวดเคหะสถานลดลง -0.50% ทั้ งนี้สินค้าและบริการในหมวดยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะบุหรี่ ปรับสูงขึ้นสูงสุด 14.43%

นอกจากนี้ สินค้าและบริการในหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา (ค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับมัธยมศึก ษาสายสามัญ และประถมศึกษา) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มี แอลกอฮอล์ หมวดการตรวจค่าตรวจรักษาและค่ายา (ค่ายาและเวชภัณฑ์ ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย 1.16%, 0.97%, และ 0.78% ตามลำดับ

สำหรับดัชนี CPT ในเดือน มี.ค.59 หากเทียบเดือ ก.พ.59 อัตราเงินเฟ้อมีค่าเท่ากับ 0.21% (MoM) สาเหตุสำคัญมาจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้น 3.36% เป็นผลสะสมจากการปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าเมื่อเดือน ก.พ. 59 (บุหรี่ราคาสูงขึ้น 6.65%)

นอกจากนี้ ดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้น 1.15% (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศสูงขึ้น 5.04% รถยนต์สูงขึ้น 0.01%) ดัชนีหมวดเคหสถานสูงขึ้น 0.03% (ค่าเช่าบ้าน 0.05% สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด -0.20% อาทิ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้น 0.01% (ยาแก้ปวดลดไข้ ยาคุมกำเนิด ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งทาผิวกาย)

ทั้งนี้ ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน มี.ค.59 อยู่ที่ 114.03 เพิ่มขึ้น 0.97% เมื่อเทียบกับ มี.ค.58 แต่ลดลง 0.31% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.59 (อาทิ อาหารโทรสั่ง -17.67% ผักบุ้ง -25.96% ผักคะน้า -16.30%) ส่วนดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 101.44 หดตัว -1.25% จากเดือน มี.ค.58 แต่ขยายตัว 0.49% จากเดือน ก.พ.59

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของเดือน มี.ค.59 อยู่ที่ 106.38 ขยายตัว 0.75% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.58

ส่วน CPI เฉลี่ย 3 เดือนแรกปีนี้หดตัว -0.50% และ CORE CPI ขยายตัว 0.67%

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ปรับลดลงตามราคาน้ำมั นดิบในตลาดโลกจากปัญหาอุปทานส่วนเกิน, ผลกระทบสะสมการปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าจาก 87% เป็น 90% เมื่อเดือน ก.พ.59, สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลให้สินค้าพืชผักสดและผลไม้สดหลายชนิดมีราคาสูงขึ้น

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ภายในครึ่งปีแรกนี้ โดยคาดว่าในเดือน เม.ย.อัตราเงินเฟ้ออาจเริ่มกลับมาบวกเล็กน้อย แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการ คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลก และราคาสินค้าเกษตร

"มีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อในเดือนเม.ย. จะเริ่มเข้ามาเป็นบวก...ต้องขึ้นกับราคาน้ำมันในตลาดโลก และราคาสินค้าเกษตรด้วย ว่า 2 ตัวนี้จะดึงตัวเลขเงินเฟ้อขึ้นได้หรือไม่ แต่เท่าที่ดูแนวโน้มราคาน้ำมันตอนนี้น่าจะเริ่มนิ่งๆไม่ลงไปจากนี้แล้ว ส่วนปัญหาภัยแล้งก็จะมีส่วนทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้น" นายสมเกียรติ กล่าว

พร้อมประเมินว่า ในไตรมาส 2 ของปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะบวกเล็กน้อยที่ 0.03% จากในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ยังลดลง -0.50%

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อรอบใหม่ในเดือน พ.ค.59 จากปัจจุบันที่ตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 0-1% ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้เติบโต 2.8-3.8% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 30-40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 36-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"เดือน พ.ค.กระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ แต่เท่าที่ดูตอนนี้สมมติฐานทั้ง 3 ตัวก็ยังอยู่ในกรอบที่เราประเมินไว้" นายสมเกียรติ กล่าว

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า มีส่วนช่วยกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อของปีนี้ได้บ้าง แต่ทั้งนี้คงต้องขึ้นกับพฤติกรรมของประชาชนว่าจะตอบสนองต่อมาตรการนี้มากน้อยเพียงใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ