วงในมองแนวโน้มราคายางสูงขึ้นจากผลผลิตน้อยจากฤดูผลัดใบ-ภัยแล้ง-ลดการส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 11, 2016 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แหล่งข่าวจากสมาคมยางพาราไทย คาดการณ์แนวโน้มราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตยางในประเทศลดลงในฤดูยางผลัดใบ และคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะรุนแรงขึ้น ทำให้สภาพอากาศแห้งแล้งและร้อนจัด ทำให้ฤดูการเปิดกรีดล่าช้ากว่าทุกปี ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งซื้อเพื่อส่ง มอบก่อนที่ปริมาณผลผลิตจะลดลงอีก อาจส่งผลให้ราคาสูงขึ้นได้

อีกทั้งผลการประชุม บจก.ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCo) มีมติกำหนดนโยบายให้ผู้ส่งออกยางพาราใน 3 ประเทศสมาชิกเดิม คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงเวียดนาม จะลดการส่งออกลง 15% ในช่วง 6 เดือนนับจากเดือนมี.ค.-ส.ค.59 ไม่มียางให้เหลือใช้ผู้ส่งออกต้องเริ่มสั่งซื้อยางแล้ว ซึ่งจะทำให้ซัพพลายยางในตลาดโลกหายไปและราคาน่าจะปรับตัวดีขึ้น

"คาดความต้องการใช้ยางของโลกจะมีประมาณ 12 ล้านตัน จากปีก่อนมีกว่า 12 ล้านตันเศษ ขณะที่ทั้งโลกที่มีการผลิต 12.5 ล้านตัน โดย 70% ของการผลิตมาจากไทย 4.5 ล้านตัน, อินโดนีเซีย 3.7 ล้านตัน, มาเลเซีย 7 แสนตัน, เวียดนาม 1 ล้านตัน ประกอบกับในช่วงนี้ ระหว่างจนถึงมิถุนายนเป็นช่วงฤดูกาลที่ยางผลัดใบที่ชาวสวนจะหยุดกรีดยางส่งผลให้ผลผลิตออกมาน้อย ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเสริมให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้"แหล่งข่าว กล่าว

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตยางลดลง โดยเฉพาะประเทศไทยราคายางจะสูงขึ้น ทิศทางราคายางในปีนี้ในช่วงสั้นน่าจะดี เพราะเวลานี้เป็นช่วงที่สินค้าไม่มีในตลาด ดังนั้น ราคายางคงไม่ต่ำไปกว่านี้แล้ว จากปีที่ผ่านมาถือเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 10 ปี ที่สำคัญปัญหาภัยแล้งก็มีส่วนสำคัญให้ผลผลิตออกน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

และจากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีโครงการจับคู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางพาราโดยได้นำคณะผู้ซื้อผู้นำเข้ายางพาราจากทั่วโลก 147 ราย มาร่วมเจรจาการค้าและจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย 109 ราย เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการค้า และแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ประกอบกับ มีแผนงานที่จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในการนำคณะไปเจรจาซื้อขายยางกับหลายประเทศซึ่งสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ยางพาราจากไทยถือเป็นแนวโน้มที่ดีของการส่งออกยางพาราของไทย

ส่วนการเปิดจุดรับซื้อยางจากเกษตรโดยตรงของภาครัฐยังไม่มีผลต่อราคายางเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ตรงจุดและขาดการประชาสัมพันธ์

ด้าน บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค.59 ที่ประเทศไทยจะจับมือกับอินโดนีเซียลดการผลิตและส่งออกยางพาราจนถึง ส.ค.59 ซึ่ง 3 ประเทศรวมกันมียอดผลิตยางพารารวมเกือบ 70% ของผลผลิตยางพาราทั้งโลก ดังนั้น การจับมือกันควบคุมปริมาณการผลิตจะมีผลให้ราคายางพาราปรับขึ้นต่อตั้งแต่เดือน เม.ย.59 เป็นต้นไป รวมทั้งช่วงไตรมาส 2 หลายพื้นที่ในประเทศไทยเข้าสู่ช่วงยางผลัดใบ ทำให้ปริมาณ supply ยางพาราลดลงและหนุนราคายางพาราขึ้น

ทั้งนี้ ราคายางพารา ณ ตลาดกลางสงขลา วันนี้ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 52.98 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.80 บาท/กิโลกรัมจากวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่เดือน ม.ค.59 ราคาลงไปที่ 36.95 บาท/กิโลกรัม ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 56.52 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 1.67 บาท ขณะที่เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ 38.66 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด 55.50 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 0.50 บาท ขณะที่เดือน ม.ค. 59 ลงไปที่ 34.43 บาท/กิโลกรัม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ