(เพิ่มเติม1) กกพ.มีมติปรับลดค่าค่า Ft งวด พ.ค.-ส.ค.59 ลง 28.49 สต./หน่วย,คาดตรึงงวดต่อไป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 20, 2016 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน และโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้ปรับลดค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บเงินในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.59 ลง 28.49 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าเอฟทีในงวดดังกล่าวอยู่ที่ -33.29 สตางค์/หน่วย โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการปรับลดค่าเอฟทีในงวดนี้ คือ ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติได้ปรับลดลงตามราคาน้ำมันเตาเฉลี่ยย้อนหลัง 6-18 เดือนที่มีการปรับลดไปก่อนหน้า และการเลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ และการยกเลิกสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ใช้พลังงานหมุนเวียนจำนวนหนึ่ง ทำให้ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐในการรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Adder และ FiT ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

โฆษก กกพ. ยังได้สรุปถึงปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค.59 ว่าประกอบด้วย 1. อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจำนวน 0.33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนขายเฉลี่ยที่เกิดขึ้นจริงในช่วงวันที่ 1-24 มี.ค. 2559 ที่ 35.38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

2. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค.2559 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้า 65,951 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย.2559 (60,807 ล้านหน่วย) 8.46%

3. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2559 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักร้อยละ 64.22 รองลงมาเป็นการซื้อไฟฟ้าจากลาวและมาเลเซียร้อยละ 12.33 ถ่านหินลิกไนต์ 8.28% และถ่านหินนำเข้า 7.68%

4. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิง คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 234.94 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 26.25 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงในช่วงปีที่ผ่านมาและคาดว่ายังคงทรงตัวต่อเนื่องในระดับต่ำ ราคาน้ำมันเตาอยู่ที่ 11.94 บาทต่อลิตร ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 0.09 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 16.03 บาทต่อลิตร ลดลงจำนวน 3.33 บาทต่อลิตร ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าเอกชนอยู่ที่ 2,842.47 บาทต่อตัน ลดลงไป 23.09 บาทต่อตัน และราคาลิกไนต์อยู่ที่ 693 บาทต่อตัน ไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าคำนวณได้เท่ากับ -16.48 สตางค์ต่อหน่วย

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐ ได้แก่ Adder และ FiT ในเดือน พ.ค.-ส.ค.2559 ได้ปรับลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนหลายรายทั้ง SPP และ VSPP มีการเลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบออกไปจากแผน จึงส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงจากช่วงที่ผ่านมาประมาณ 6.16 สตางค์ต่อหน่วย ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการนำส่งเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าได้ลดลงเล็กน้อยจำนวน 0.03 สตางค์ต่อหน่วย จึงส่งผลให้ค่าเอฟทีรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.2559 คำนวณได้เท่ากับ -22.67 สตางค์ต่อหน่วย

5. จากการปรับการคำนวณค่าเอฟทีเดือน ม.ค. – เม.ย.2559 ทำให้มีส่วนต่างของเงินค่าเอฟทีที่คำนวณได้ และค่าเอฟทีที่คาดว่าจะเรียกเก็บ (ค่า AF) สะสมจำนวน -12,512 ล้านบาท หรือเท่ากับ -20.81 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง อัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น และความต้องการใช้ไฟฟ้าในเดือน ก.พ.2559 ที่ต่ำกว่าคาดการณ์จากสภาพอากาศที่เย็นลงทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าลดลงจากแผนเดิม 11.49 สตางค์ต่อหน่วย

รวมทั้งโครงการพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยังไม่ได้เข้าจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเดิมหรือโซลาร์ค้างท่อ โครงการพลังงานลม เป็นต้น ซึ่งเดิมมีกำหนดจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปลายปี 2558 ที่ผ่านมา แต่ได้เลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบออกไป รวมทั้งมี SPP ประเภท Non-Firm หลายรายหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า จึงทำให้ค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในระบบ Adder และ FiT ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ 9.30 สตางค์ต่อหน่วยด้วย และเงินนำส่งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ลดลงเล็กน้อยจำนวน 0.02 สตางค์/หน่วย

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ประมาณการค่าเอฟทีเดือน พ.ค. – ส.ค.2559 ที่ กฟผ.คำนวณได้เท่ากับ -43.48 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งปรับลดลงจากรอบเดือน ม.ค. – เม.ย.2559 จำนวน -38.68 สตางค์ต่อหน่วย และ กกพ.ได้พิจารณาแนวโน้มค่าเอฟทีรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค.2559 ซึ่งคำนวณได้เท่ากับ -22.51 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นจากประมาณการค่าเอฟทีในรอบเดือน พ.ค. – ส.ค.2559 เท่ากับ 20.97 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าเอฟทีมีความผันผวนมาก เนื่องจากปัจจัยค่า AF ในเดือน ม.ค. –เม.ย.2559 ดังนั้น เพื่อเป็นการบริหารค่าเอฟทีในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค.2559 ไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไปและเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้ไฟฟ้า กกพ.จึงเห็นควรให้นำค่าเอฟทีรอบเดือน พ.ค. – ส.ค.2559 และ ก.ย. – ธ.ค.2559 มาเฉลี่ยเท่ากับ -33.29 สตางค์ต่อหน่วย และนำมาใช้ในการเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในเดือน พ.ค. – ส.ค.2559

"จากการกำหนดค่าเอฟทีเรียกเก็บงวดเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2559 ในอัตรา -33.29 สตางค์ต่อหน่วย หรือลดลง 28.49 สตางค์ต่อหน่วย จะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.4227 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือลดลง 7.68%" โฆษก กกพ.ระบุ

นายวีระพล กล่าวอีกว่า ค่าเอฟทีที่ปรับลดลงในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.นี้ นับว่าเป็นอัตราการปรับลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ค่าเอฟทีในงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. เบื้องต้นพบว่าปัจจัยที่จะมากระทบนั้นในส่วนของต้นทุนเชื้อเพลิงราคาก๊าซฯน่าจะลดลงได้อีก 15-20 บาท/ล้านบีทียู หากแนวโน้มราคาน้ำมันทรงตัวที่ระดับ 30-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งจะทำให้เอฟทีลดลง 22.51 สตางค์/หน่วย ,อัตราแลกเปลี่ยนประมาณการไว้ที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่มีปัจจัยลบจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐ ที่ผู้ที่เปลี่ยนการรับซื้อไฟฟ้าจากระบบ Adder มาเป็น FiT จะทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น 7.04 สตางค์/หน่วย ซึ่งทำให้เบื้องต้นคาดว่าค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. จะอยู่ที่ระดับ -29.55 สตางค์/หน่วย

แต่เพื่อไม่ให้ค่าเอฟทีมีความผันผวนมาก จึงได้เกลี่ยค่าเอฟทีที่สามารถลดได้จริงในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. ออกไปช่วยอุดหนุนค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือนก.ย.-ธ.ค. ทำให้คาดว่าค่าเอฟทีในงวดสุดท้ายของปีนี้จะยังทรงตัวที่ระดับ -33.29 สตางค์/หน่วยเหมือนเดิม

"ถ้างวดหน้าเป็นไปอย่างที่เราคิด เอฟทีงวดหน้า (ก.ย.-ธ.ค.) ก็จะคงที่ ทำให้ค่าเอฟทีคงที่ที่ระดับ -33.29 สตางค์/หน่วยยาวถึงสิ้นปี...แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากเรื่องของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนอยู่"นายวีระพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ