คมนาคม เปิดรับฟังความเห็นโครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธินฯโซนD คาดเปิดประมูลปี 60, เอกชนมองระยะเวลาเช่าน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 22, 2016 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงคมนาคมเตรียมนำเสนอผลศึกษาโครงการพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน โซน D พื้นที่ 83 ไร่ มูลค่าลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP)ได้หลังจากเดือน ส.ค. 59 ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการ จึงจะเปิดประมูลในปี 60 ขณะที่ภาคเอกชนติงระยะเวลาเช่า 30 ปีน้อยเกินไปไม่คุ้มค่าเงินลงทุน แนะให้ระยะเวลาเช่า 99 ปีเหมือนสิงคโปร์และมาเลเซีย

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม ได้ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ศึกษาและออกแบบ เบื้องต้นพบกว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินในพื้นที่ 2,325 ไร่ แบ่งเป็น 4 โซน ประกอบด้วยพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ พื้นที่สวนสาธารณะ พื้นที่พัฒนาโครงการ กม.11 และพื้นที่ย่านตึกแดง ขณะที่สถานีรถไฟกลางบางซื่อที่เป็นศูนย์กลางเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สำคัญอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 61 และเปิดบริการในปี 62

โดยในวันนี้ได้จัดสัมมนาทดสอบความเข้าใจนักลงทุน(Market Sounding) โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธินและการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม ในส่วนโซน D ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างการเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางและสิทธิการพัฒนาพื้นที่รอบศูนย์กลางการคมนาคม มีเนื้อที่รวมกว่า 83 ไร่ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ประมาณ 1,065,920 ตร.ม. มูลค่าลงทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท

โดยพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ตั้งอยู่ใจกลางเชื่อมต่อระหว่างแนวแกนทางเดินเท่าทั้งแบบเหนือดิน(sky walk) และบนดิน ระหว่างสถานีระบบขนส่งทางรางต่างๆตลอดจนสถานีขนส่งย่อย บขส.ทั้งนี้ sky walk จะเชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักร มีระยะทางประมาณ 1.3 กม. ทางเชื่อมต่อระดับดินไปยังสถานีย่อย บขส. มีระยะทางรวมประมาณ 1.4 กม. มีมูลค่าโครงสร้างทางเชื่อต่อการเดินทางกว่า 1 พันล้านบาท

นอกจากนี้ เป็นส่วนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองด้วยรูปแบบการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ(BRT) พร้อมศูนย์ซ่อมบำรุง เนื้อที่กว่า 7 ไร่ ที่จะทำหน้าที่เชื่อมการเดินทางภายในศูนย์คมนาคมพหลโยธินให้เชื่อมต่อก้นอย่างสมบูรณ์ โดยมีจุดขึ้นลง 16 สถานีที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับระบบขนส่งหลัก และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิขย์สำคัญในบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธิน มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1.7 พันล้านบาท

นายออมสิน กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาร่วมลงทุน ไม่ว่าจะมีความสนใจในการพัฒนาทางเดินเชื่อมต่อหลักพร้อมทั้งได้รับสิทธิในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ บริเวณโซน D หรือ การพัฒนาระบขนส่งมวลขนขนาดรองของโครงการ โดยหลังจากรับทราบความคิดเห็นของเอกชนในวันนี้ ทาง สนข.จะนำไปปรับปรุงรายละเอียดของโครงการ และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมในเดือน ก.ค.-ส.ค. 59 หลังจากนั้น กระทรวงคมนาคมเสนอต่อคณะกรรมการ PPP เพื่อขออนุมัติการร่วมทุนกับเอกชนจะต้องผ่านกระบวนการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2556 (Public Private Partnership:PPP) ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ จากนั้น คณะกรรมการ PPP จะเป็นผู้ประกาศให้เอกชนร่วมลงทุนในลักษณะการให้สิทธิเอกชนระยะยาวในการใช้พื้นที่ และการร่วมหุ้นกับเอกชน (Joint Venture)

ตามแผนการดำเนินโครงการกำหนดประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและสรรหานักลงทุน(Invite Investors for PPP) ในปี 60 ทั้งนี้เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ขณะที่ภาครัฐลงทุนที่ดินที่จะใช้ในโครงการ โดยให้ระยะเวลาเช่า 30 ปี ทั้งนี้ จะมีระยะเวลาดำเนินโครงการ ออกแบบและก่อสร้างในปี 61-64 ก่อนเปิดใช้ในปี 65

"ในหลักการให้เวลา 30 ปี แต่ถ้าไม่จูงใจก็ต้องมาพิจารณากันต่อไป"

นายออมสิน กล่าววา การพัฒนาโครงสร้างการเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางและสิทธิการพัฒนาพื้นที่รอบศูนย์กลางการคมนาคม หรือ โซน D จะกลายเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งของกรุงเทพ แทนที่หัวลำโพง โดยจะเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สายสีแดง ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ และสายสีแดงช่วงบางซื่อ-หัวหมาก นอกจากนี้ยังเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงที่ร่วมมือกับญี่ปุ่น เส้นทาง กรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ และ รถไฟไทยร่วมกับจีน เส้นทาง กรุงเทพ-นครราชสีมา

ส่วนโครงการพัฒนาในโซน A เนื้อที่ 35 ไร่ โซน B เนื้อที่ 38 ไร่ และ โซน C เนื้อที่ 105 ไร่ นั้น รมช.คมนาคม กล่าวว่า รฟท.จะเริ่มดำเนินโครงการโซน A และ B ก่อน โดยกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอคณะกรรมการ PPP ในเดือน พ.ค.นี้ ส่วนโซน C ยังไม่สามารถย้ายสำนักงานและที่จอดรถของ บขส.ได้

ด้านนายอธิป พีชานนท์ กรรมการ บมจ.ศุภาลัย (SPALI) และในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ซึ่งเป็นผู้แทนจากกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้โครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธินมีความชัดเจนมากขึ้น และมีระยะเวลาดำเนินโครงการแน่นอน เพราะหากไม่ดำเนินโซนต่างๆได้ครบ จะทำให้ศักยภาพของพื้นที่ในโซน D ลดลง หรืออย่างน้อยเปิดดำเนินการบางส่วนของทุกโซนก็ยังดี รวมทั้งเห็นควรจัดโซนนิ่งการใช้พื้นที่ อาทิ โซนที่อยู่อาศัย โรงแรม พื้นที่ค้าปลีก และเป็นพื้นที่เข้าดำเนินโครงการได้ทันทีจากอดีตที่ภาครัฐผลักภาระให้เอกชนขับไล่ผู้ที่อาศัยพื้นที่เดิม ซึ่งเป็นความเสี่ยงธุรกิจ

แต่ที่สำคัญคือระยะเวลาเช่าพื้นที่โครงการ ควรให้ระยะยาวเช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียที่ให้สิทธิการเช่า 99 ปี ขณะที่โครงการนี้ให้เวลาเพียง 30 ปี ถือว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน และถึงแม้จะให้ระยะเวลาเช่าเพิ่มเป็น 50 ปีก็ยังน้อยเกินไป นอกจากนี้ เห็นว่าการร่วมลงทุนกับภาครัฐอาจบริหารงานล่าช้าแต่หากเป็นเอกชนทั้งหมด ก็จะมีความยืดหยุ่นหรือคล่องตัวในการดำเนินงานได้ดีกว่า

"เรื่องการเงินมีความสำคัญน้อยกว่า เรื่องความมั่นใจโครงการ เพราะเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินโครงการก็รู้ตัวอยู่แล้วว่ามี capacity หรือเปล่า เราควรเอาคนแข็งแรงเข้ามาพัฒนาพื้นที่" นายอธิปกล่าว

ตัวแทนจากบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ได้แสดงความเห็นสอดคล้องกับนายอธิปว่า เรื่องระยะเวลาให้สิทธิการเช่า 30 ปีน้อยไปไม่คุ้มกับการลงทุน ควรขยายไปถึง 99 ปีจะเหมาะสมกว่า และต้องการให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับระบบเชื่อมต่อระบบรางในศูนย์คมนาคมพหลโยธิน

ส่วนตัวแทนจากบมจ.เซ็นทรัลพัฒนา(CPN) กล่าวว่า บริษัทติดตามและสนใจโครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธินมาที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่ง (Hub) มาโดยตลอดเพราะเห็นศักยภาพโครงการ แต่วันนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนของโครงการเท่าไร รวมทั้งด้านกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าร่วมลงทุนภาครัฐ ขณะเดียวกันเห็นว่า ระยะเวลาเช่าเพียง 30 ปี แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดโครงการใหญ่ เสนอให้ขยายเวลาเป็น 99 ปี

นอกจากนี้ยังมีบมจ. ซีพีออลล์ บริษัท แกรนด์ยูนิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบ.ย่อยของบมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) บมจ.ล็อกซเล่ย์ ต่างก็แสดงความสนใจโครงการพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน เพราะจะเป็นจุดเชื่อมต่อศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ