(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย มี.ค.59 ส่งออกโตต่อเนื่อง 1.3% แต่นำเข้ายังหด -6.94% เกินดุล 2.9 พันล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 25, 2016 12:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน มี.ค.59 ว่า การส่งออกยังขยายตัวเป็นบวก 1.3% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยมีมูลค่า 19,125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 16,159 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 6.94% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,966 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกปี 59 (ม.ค.-มี.ค.59) การส่งออกขยายตัวได้ 0.9% คิดเป็นมูลค่า 53,829 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าหดตัว 11.99% คิดเป็นมูลค่า 45,640 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลดุลการค้าเกินดุล 8,189 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นายสุวิทย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยเดือน มี.ค.ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะรถยนต์ เครื่องจักรกล และทองคำ อีกทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหลายรายการมีแนวโน้มการส่งออกที่ดี จากการขยายตัวในด้านปริมาณ แต่ยังคงเผชิญกับปัจจัยราคาที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ด้านมูลค่าขยายตัวต่ำกว่าปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าจับตามองสถานการณ์การค้าโลกที่ยังคงผันผวนอย่างใกล้ชิด จากสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก แสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยยังอยู่ระดับที่ดี อีกทั้งข้อมูลการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเริ่มมีสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกไทยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค.59 เทียบกับเดือน มี.ค.58 กลับมาขยายตัวต่อเนื่องจากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล และทองคำ ในขณะที่ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยฉุดรั้งมูลค่าส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน

โดยภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 3.4% ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง 43.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวของการส่งออกทองคำสูงถึง 262.5% เนื่องจากราคาทองคำสูงขึ้นและมีการส่งออกเพื่อเก็งกำไร เช่นเดียวกับการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่กลับมาขยายตัว 2.9% จากการส่งออกรถยนต์นั่งที่ขยายตัวสูงถึง 80.8% โดยเฉพาะตลาดออสเตรเลีย อาเซียน และตะวันออกกลาง

ขณะที่สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มีสัดส่วนรวมกัน 7.6% ของมูลค่าส่งออก ยังคงหดตัวสูงต่อเนื่องถึง 22.7% จากปีก่อนหน้า ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญอย่างเครื่องรับโทรทัศน์ฯ ก็หดตัวสูง 28.4% จากปัจจัยการย้ายฐานการผลิต เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบหดตัว 6.2% เช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมเดือน มี.ค.59 มูลค่าส่งออกลดลง 1.5% ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน มี.ค.59 นี้ ยางพาราหดตัวถึง 21.1% เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ลดลง 12.6% ทูน่ากระป๋องลดลง 7.7% เครื่องดื่มหดตัวสูง 5.5% ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวด้านราคาเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านปริมาณส่งออก พบว่าหลายรายการยังมีปริมาณส่งออกที่ดี แต่ด้วยปัจจัยราคาที่ลดลง ทำให้มูลค่าขยายตัวต่ำกว่าด้านปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยางพารา ที่ปริมาณส่งออกสินค้าขยายตัว 2.5% แต่ด้วยราคาต่ำทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวลง ในขณะที่น้ำตาลทรายและข้าวมูลค่าส่งออกกลับมาขยายตัวดี 6.0% และ 7.3% ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวด้านปริมาณการส่งออกสูงถึง 18.5% และ 26.1% ตามลำดับ

ตลาดส่งออกสำคัญอย่างอาเซียนและทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดส่งออกหลักอย่างตลาด ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กลับมาหดตัว เช่นเดียวกับจีน ที่ยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และจากปัจจัยสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเป็นสำคัญ เดือน มี.ค.59 การส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ อาเซียน และทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่มีแนวโน้มการขยายตัวได้ดีในทั้งสองภูมิภาค อย่างไรก็ดี พบว่ากลุ่มประเทศ CLMV ก็ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกัมพูชา ลาว และเมียนมา

นอกจากนี้ตลาดส่งออกหลักอย่างญี่ปุ่นกลับมาหดตัวที่ 6.1% สหภาพยุโรป หดตัว 2.9% และสหรัฐฯ หดตัว 1.4% เช่นเดียวกับ การส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างจีน หดตัวต่อเนื่องที่ 5.4% จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้ารวมถึงการหดตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการใช้นโยบายลดการพึ่งพาการนำเข้าและเน้นใช้วัตถุดิบในประเทศ ซึ่งกระทบต่อสถานการณ์มูลค่าการส่งออกของประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งไทย ด้านการค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดน และผ่านแดน เติบโตต่อเนื่องจากปี 58 (มีสัดส่วนคิดเป็น 7.8% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) ซึ่งเมื่อรวมการค้าชายแดน และผ่านแดน เดือน มี.ค.59 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 97,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.05% และระยะ 3 เดือน (ม.ค. -มี.ค. 59) มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 290,825 ล้านบาท ขยายตัว 2.38%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ