กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน เม.ย.59 อยู่ที่ 106.42 ขยายตัว 0.07% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.58 ซึ่งเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 15 เดือน และขยายตัว 0.55% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน เม.ย.59 อยู่ที่ 106.53 ขยายตัว 0.78% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.58 และ ขยายตัว 0.14% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ส่วนดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เดือน เม.ย.59 อยู่ที่ 115.43 เพิ่มชึ้น 1.23% เทียบกับเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 1.57% เทียบกับเดือน เม.ย.58 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหาร อยู่ที่ 101.62 เพิ่มขึ้น 0.18 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ลดลง 0.76% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.58
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนเม.ย.59 ว่า เท่ากับ 106.42 สูงขึ้น 0.55% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.59 และเพิ่มขึ้น 0.07% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.58 ถือเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 15 เดือนนับจากเดือนธ.ค.57 ที่เป็นบวก 0.60 ส่วนเฉลี่ย 4 เดือนของปี 58 (ม.ค.-เม.ย.) ลดลง 0.35%
สำหรับเงินเฟ้อเดือนเม.ย.59 ที่สูงขึ้น 0.07% นั้น มาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่เพิ่มขึ้น 1.57% โดยสินค้าสำคัญราคาที่สูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ, ไข่และผลิตภัณฑ์นม, ผักและผลไม้, อาหารบริโภคในบ้าน และนอกบ้าน, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แต่ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งลดลง ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.76% มาจากการลดลงของสินค้าสำคัญ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, ค่าโดยสารสาธารณะ, การสื่อสาร, หมวดเคหสถาน แต่หมวดเครื่องนุ่งห่ม, การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล, การบันเทิง การอ่าน และการศึกษา และยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น
"เงินเฟ้อที่ปรับขึ้นมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 15 เดือนนี้ มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรหลายๆ ตัว ราคาสูงขึ้นตามฤดูกาล โดยเฉพาะกลุ่มผัก และผลไม้บางชนิด ที่ผลผลิตขาดแคลนจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น"นายสมเกียรติกล่าวส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อจากนี้ไป คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ เพราะราคาน้ำมัน ซึ่งเคยเป็นตัวฉุดให้เงินเฟ้อลดลงในช่วงที่ผ่านมา กำลังเริ่มปรับตัวสูงขึ้น แต่ประเมินว่าจะยังทรงตัวเป็นบวกอยู่ในระดับต่ำ ไม่น่าจะเพิ่มมาก ส่วนสินค้าเกษตร มีแนวโน้มราคาลดลง เมื่อเข้าสู่หน้าฝน โดยเงินเฟ้อน่าจะเริ่มเป็นบวกชัดเจนตั้งแต่เดือนก.ค.นี้เป็นต้นไป และทั้งปีจะยังคงอยู่ในประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 0-1%
"แรงกดดันต่อเงินเฟ้อปีนี้ ยังมีไม่มาก โดยเฉพาะราคาน้ำมัน แม้เริ่มขยับขึ้น แต่ก็ขึ้นแบบทรงตัว ไม่ได้ขึ้นแรง ส่วนสินค้าเกษตร ก็เป็นไปตามฤดูกาล และเดือนพ.ค. ค่าไฟจะลดลงอีก ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อแทบไม่มี"นายสมเกียรติกล่าวสำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักกลุ่มอาหารสดและพลังงานออกในเดือนเม.ย.59 เท่ากับ 106.53 เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.59 และเพิ่มขึ้น 0.78% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.58 ส่วนเฉลี่ย 4 เดือน เพิ่มขึ้น 0.70%