(เพิ่มเติม) เชฟรอนตั้งเป้าลดพนักงานราว 800 คนรับมือภาวะราคาน้ำมันต่ำ,ยันยังเดินหน้าธุรกิจในไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 16, 2016 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรรองรับสภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องและความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ซึ่งโครงสร้างองค์กรใหม่มีเป้าหมายจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ โดยตั้งเป้าหมายจะลดพนักงานลงราว 20% หรือประมาณ 800 คน จากที่มีอยู่ทั้งหมดเกือบ 4 พันคนซึ่งรวมถึงพนักงานของเชฟรอนฯ และพนักงานของบริษัทผู้รับเหมา ขณะที่ยืนยันยังคงทำธุรกิจในไทยเหมือนเดิมโดยที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

เชฟรอนฯ ส่งเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างองค์กรของเชฟรอนประเทศไทย โดยระบุว่าสืบเนื่องจากสภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องและความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ลดลง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงได้ทำการศึกษาทบทวนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและโครงสร้างองค์กร เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาว

ผลจากการศึกษาทบทวนโครงสร้างองค์กรที่ผ่านมา เชฟรอนประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายปรับลดบุคลากรจำนวน 20% หรือประมาณ 800 ตำแหน่ง ทั่วทั้งองค์กร ซึ่งรวมถึงพนักงานเชฟรอน และพนักงานบริษัทผู้รับเหมาชาวไทย

ก่อนหน้านี้ เชฟรอนประเทศไทยได้ปรับลดพนักงานชาวต่างชาติไปแล้วมากกว่า 50% และปรับลดพนักงานบริษัทผู้รับเหมาที่เป็นชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวภายหลังการเข้าพบนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานในวันนี้ว่า ได้มารายงานถึงแผนดำเนินการในประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีการปรับลดพนักงาน ซึ่งทางบริษัทได้แจ้งพนักงานอย่างเป็นทางการในช่วงบ่ายวันนี้ ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด โดยต้องลดบุคลากร 20% หรือประมาณ 800 ตำแหน่ง จากพนักงานเชฟรอนประเทศไทยฯ ประมาณ 2,200 คน และมีพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมาประมาณ 1,700 คน ซึ่งบริษัทมีแผนการจ่ายเงินค่าชดเชยที่เหมาะสมตามอายุงานของพนักงานและไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด

โดยการดำเนินการเป็นไปตามแผนการลดต้นทุนที่บริษัทแม่ให้ดำเนินการทั่วโลก สืบเนื่องจากสภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่องและความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ซึ่งผังองค์กรใหม่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป ซึ่งในส่วนของการลดพนักงานถือว่าเป็น 1 ใน 3 ส่วนของแผนงานที่จะลดต้นทุนรวม 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 17,500 ล้านบาทภายในปี 59

"นับเป็นครั้งแรกที่เชฟรอนประเทศไทยฯ ต้องลดพนักงานหลังจากเคยปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ที่เชฟรอนฯเข้ามาซื้อกิจการยูโนแคล ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ก็เป็นหนึ่งในแผนที่จะสนับสนุนให้บริษัทสามารถลงทุนได้อย่างยาวนานในประเทศไทย"นายไพโรจน์ กล่าว

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมเชฟรอนที่จะหมดอายุในปี 65 นั้นทางบริษัทได้เสนอความคิดเห็นทั้งหมดแก่ทางกระทรวงพลังงานไปแล้ว ขณะนี้รอเพียงรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร โดยทุกอย่างควรจะเจรจายุติได้ภายในต้นปี 60 เพื่อที่ทางบริษัทจะได้วางแผนการลงทุนในการรักษากำลังการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

นางบุญบันดาล ยุวนะศิริ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการปิโตรเลียม ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานจะประชุมกันใน 1-2 สัปดาห์นี้ เรื่องการบริหารจัดการแห่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานทั้งแหล่งเชฟรอนและบงกชในปี 65 และปี 66 ซึ่งจะมีการเสนอความเห็นการดำเนินการ ทั้งรูปแบบการเจรจา จ้างผลิตและเปิดประมูล ซึ่งขึ้นกับรัฐบาลจะเลือกใช้แนวทางใด มีเหตุผลประกอบชัดเจน ซึ่งเมื่อคณะกรรมการฯ เห็นชอบแล้วก็จะเสนอรมว.พลังงานและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการและจะได้เอกชนเข้ามาบริหารแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งนี้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อให้สามารถวางแผนผลิตในการรักษากำลังผลิตทั้ง 2 แหล่งต่อ ไม่กระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ แหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในเดือนมี.ค.65 มี 4 แปลงในแหล่งก๊าซฯเอราวัณ และใกล้เคียง ของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด และแหล่งก๊าซฯที่จะหมดอายุในเดือนมี.ค.65 และเม.ย.66 มี 3 แปลงในแหล่งบงกช ของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) โดยแหล่งปิโตรเลียมทั้งสองแหล่งดังกล่าวนั้นมีปริมาณการผลิตรวมกันราว 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือคิดเป็นราว 76% ของการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ