นายกฯ กล่าวเปิดงาน Thai-Russia Business Dialogue โชว์ศักยภาพไทย พร้อมชวนเอกชนรัสเซียใช้ไทยเป็นฐานธุรกิจในภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 18, 2016 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thai-Russia Business Dialogue ว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีรัสเซีย และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจรัสเซียที่เห็นความสำคัญและมาเข้าร่วมงานในวันนี้

สำหรับการเดินทางมารัสเซียในครั้งนี้นับเป็นการนำคณะรัฐมนตรีร่วมคณะมาเยือนต่างประเทศจำนวนมากที่สุด รวมถึงคณะภาคเอกชนชั้นนำจากประเทศไทย ทั้งนี้ในปี 2560 จะเป็นปีที่ครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกันมายาวนานทั้งด้านสังคม การเมืองและความมั่นคง และเศรษฐกิจ

ในด้านการเมือง นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัสเซียที่เป็นมิตรประเทศที่เข้าใจและให้การสนับสนุนไทย ทั้งในระดับทวิภาคีและในเวทีนานาชาติมาโดยตลอด รวมถึงความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงที่รัสเซียให้การสนับสนุนไทยมาโดยตลอด

ในด้านการค้า นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ไทยและรัสเซียควรเร่งกระชับความร่วมมือ โดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในปี 2558 มีมูลค่าเพียง 2,356 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสามารถที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ 5 เท่าภายใน 5 ปีข้างหน้า

ในด้านการลงทุน นายกรัฐมนตรี เห็นว่า งาน Thai-Russian Business Dialogue เป็นโอกาสอันดีสำหรับภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายที่จะได้หารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและนำไปสู่การขยายความร่วมมือต่อไป

ในด้านสังคม ทั้งสองประเทศมีการไปมาหาสู่กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่ถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญ โดย 3 เดือนแรกของปี 2559 นักท่องเที่ยวรัสเซียอยู่ในลำดับที่ 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาประเทศพยายามลดความขัดแย้งให้มากที่สุดในทุกประเด็นและสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย อาเซียน และมิตรประเทศ โดยไทยกำลังเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ การมีธรรมาภิบาล และการมุ่งพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจของไทยในปี 2558 ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก แต่ GDP ยังเติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2559 คาดว่าจะเติบโตที่ 3-3.5% โดยในระยะสั้นจะมาจากการบริโภคในประเทศ การท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะใช้เงินลงทุนรวมกว่า 1.7 ล้านล้านบาทในระยะ 8 ปีข้างหน้า และในระยะยาวที่รัฐบาลมุ่งมั่นปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีคุณภาพและยั่งยืน สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต เน้นการพัฒนาประเทศสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล โดยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในประเทศให้เติบโตควบคู่ไปกับการส่งออก ทั้งการปฏิรูปเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้และกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง ซึ่งไทยมุ่งไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าจากนวัตกรรม เนื่องจากสภาพการแข่งขันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับการผลิตที่เน้นนวัตกรรม คุณภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่มที่จะให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่ง 5 กลุ่มแรก จะเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว โดยให้เพิ่มความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ (1) ยานยนต์แห่งอนาคต (2) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (3)การท่องเที่ยวระดับโลก (4) การเกษตรที่มีประสิทธิภาพ และ (5)อาหารแห่งอนาคต เช่น อาหารสุขภาพ ส่วน 5 กลุ่มหลังจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคต ได้แก่ (1)เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (2) อุตสาหกรรมการบิน (3)อุตสาหกรรมไบโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Bio-fuels และ Bio-chemicals (4)อุตสาหกรรมดิจิทัล และ (5) อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพครบวงจร

นอกจากนี้รัฐบาลยังมุ่งส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ (Cluster) ของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งยังจะพัฒนาผู้ผลิต และส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัย การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ และพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ และทาง BOI ยังกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุนที่น่าสนใจให้แก่การลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI สามารถให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ หากเข้าไปลงทุนในประเทศไทย เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 8 ปี และยังอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้ส่งเสริมการลงทุน และช่วยอำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้บริหาร วิศวกรต่างชาติที่จะทำงานในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับธุรกิจ Startup เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนในด้านเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะถือเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่จะทำให้เกิดการขยายธุรกิจและการสร้างตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่วนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการคมนาคมและการขนส่งของประเทศ รัฐบาลได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ทั้งภายในและจากต่างประเทศ ซึ่งจะได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ PPP (Public-Private Partnership) ขึ้น และดำเนินการปรับลดขั้นตอนให้สะดวกต่อการลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งยังจะมีการจัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (Thailand Future Fund)

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่เป้าหมาย ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 โดยเริ่มต้นจากการเกษตร ซึ่งเป็นประเทศไทย 1.0 แล้วพัฒนาไปเป็นอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า หรือ ประเทศไทย 2.0 จากนั้นพัฒนาอีกระดับ เข้าสู่สถานภาพของไทยในปัจจุบัน คือ อุตสาหกรรมหนักและเริ่มมีขีดความสามารถในการส่งออก คือ ประเทศไทย 3.0 และจากนี้ไป ประเทศไทยต้องการมุ่งไปสู่การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สูงขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัสเซียมีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพในหลากหลายอุตสาหกรรมที่จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับไทยเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม และช่วยนำประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 และประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญใจกลางอาเซียน รวมทั้งยังเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศ CLMVT ที่กำลังเติบโต ซึ่งด้วยแหล่งที่ตั้งในจุดยุทธศาสตร์ ด้วยศักยภาพของการเกษตรและอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบัน ถ้าไทยสามารถทำการปฏิรูปอย่างจริงจัง ไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงยิ่งในภายภาคหน้า โดยเฉพาะการลงทุนที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบาย Thailand +1 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและมิตรประเทศที่สนใจในการร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำในภูมิภาค และขับเคลื่อนการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุนในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการรวมตัวสู่ประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ไทยยังให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือในทุกมิติ รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน กับ 5 กลุ่มประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันตก กลุ่มประเทศยุโรป กลุ่มประเทศเอเชีย กลุ่มประเทศมุสลิม และกลุ่มประเทศหมู่เกาะ นายกรัฐมนตรีจึงได้ใช้โอกาสนี้เชิญภาคเอกชนรัสเซียพิจารณาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกในการลงทุนเป็นอย่างมาก ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อยกระดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ เพื่อปรับปรุงขั้นตอนในการทำธุรกิจให้สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบและบริการ รวมทั้งการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการให้บริการมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมุ่งหวังที่จะขึ้นการจัดอันดับ Ease of Doing Business ของประเทศไทยโดยการสำรวจของธนาคารโลก (World Bank) ให้ดีขึ้นจากปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนของรัสเซียในประเทศไทยนั้นยังมีลู่ทางที่ดีมาก หากพิจารณาจากสถิติการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยและรัสเซีย การลงทุนของรัสเซียในไทยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ โดยหากได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญให้บริษัทรัสเซียพิจารณาใช้ไทยเป็นฐานการทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) ซึ่งขณะนี้รัฐบาลปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนแก่กิจการเหล่านี้เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยรัฐบาลและนักธุรกิจไทยยังเล็งเห็นถึงโอกาสการลงทุนในรัสเซียซึ่งการจะผลักดันให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นได้ต้องพึ่งพาการสนับสนุนข้อมูลและการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐของรัสเซียอีกมากด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ