กพช.เห็นชอบแนวทางสนับสนุน SPP โคเจนเนอเรชั่นที่สิ้นสุดสัญญาปี 60-68

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 30, 2016 13:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแนวทางสนับสนุนโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ประเภท Cogeneration ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2560–2568 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2560–2561 ให้ต่ออายุสัญญามีระยะเวลาสัญญา 3 ปี ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ (MW) และไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ราคารับซื้อไฟฟ้าเมื่อเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาติที่ระดับ 263 บาท/ล้านบีทยู จะอยู่ที่อัตรา 2.3753 บาท/หน่วย

ส่วนกลุ่มที่ 2 SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2562–2568 จะเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ให้มีระยะเวลาสัญญา 25 ปี ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ และไม่เกิน 30% ของกำลังผลิตไฟฟ้าสุทธิรวมไอน้ำ (Net Generation) ไฟฟ้ารวมไอน้ำ และจะต้องไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ราคารับซื้อไฟฟ้า ในอัตรา 2.8186 บาท/หน่วย เมื่อเทียบกับราคาก๊าซฯที่ 263 บาท/ล้านบีทียู ทั้งนี้ โครงการ SPP-Cogeneration ที่ได้รับสิทธิการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ให้ดำเนินการก่อสร้างได้ในพื้นที่เดิม หรือพื้นที่ใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาดำเนินการตามแนวทางฯ ข้างต้น รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงรูปแบบสัญญา Firm ของ SPP-Cogeneration กลุ่มนี้ ให้สามารถลดปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การขอลดปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบล่วงหน้า พิจารณาทบทวนการกำหนดราคาก๊าซฯสำหรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และ SPP ตลอดจนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำรองให้มีความเหมาะสม

รวมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินการศึกษา SPP-Power Pool เพื่อรองรับกลไกการประมูลรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราส่วนลดพิเศษในอนาคต โดยให้รีบกลับมานำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. ตามลำดับต่อไป

อนึ่ง ก่อนหน้านี้สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนระบุว่ามี SPP ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาขายไฟฟ้าในปี 2560-2568 จำนวน 25 ราย มีปริมาณสัญญาขายไฟฟ้ารวมประมาณ 1,787 เมกะวัตต์

กพช.ระบุว่า กระทรวงพลังงาน ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนแนวทางสนับสนุน SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2560–2568 เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวนค่อนข้างมาก ทำให้ SPP มีความเสี่ยงในการดำเนินการเพิ่มขึ้น และ SPP ยังมีความจำเป็นในด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ประกอบกับข้อจำกัดทางเทคนิคของโรงไฟฟ้าที่ต้องผลิตทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ/ความเย็น ทำให้โรงไฟฟ้าต้องมีขนาดใหญ่ในระดับหนึ่งจึงจะสามารถรักษาเสถียรภาพและคุณภาพของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ได้ กพช.จึงได้อนุมัติแนวทางสนับสนุน SPP-Cogeneration ดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ