กรมธนารักษ์ เล็งเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ค่าเช่าที่ราชพัสดุ ศึกษาปรับอัตราผลตอบแทนใหม่อิงตามราคาตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 08:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ได้มอบนโยบายว่าในอนาคตกรมธนารักษ์จะต้องขึ้นเป็นหน่วยงานจัดเก็บรายได้เป็นอันดับ 1 ของกระทรวงการคลังนั้น ทำให้กรมธนารักษ์มีความจำเป็นต้องดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ในส่วนต่าง ๆ ของกรมในเชิงรุก โดยเฉพาะรายได้จากการให้เช่าที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์ ซึ่งตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นไป กรมธนารักษ์ได้ตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้จากการให้เช่าที่ราชพัสดุไว้ที่ระดับ 11,100 ล้านบาท และที่ 12,100 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2563

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2559 นี้ได้ตั้งเป้าการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดสามารถจัดเก็บได้แล้ว 4,432 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน ส่วนในปีงบประมาณ 2560 ตั้งเป้าการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 7,445 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 ตั้งเป้าการจัดเก็บรายได้ไว้ที่ 9,100 ล้านบาท

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า จากแนวนโยบายดังกล่าวของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีนั้น กรมธนารักษ์ได้มีการปรับปรุงวิธีการคำนวณอัตราผลตอบแทนในการเช่าที่ราชพัสดุให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยเฉพาะการคำนวณในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะมีการประเมินโดยนำราคาที่ดินรายแปลง ที่กรมธนารักษ์ได้ประกาศใช้ในปี 59 ไปแล้วมาเป็นตัวฐาน และกำหนดมูลค่าผลตอบแทนที่ควรจะเป็นตามอัตราตลาดมาใช้ในการคำนวณ

"การปรับราคาเช่นนี้ จะทำให้กรมฯ สามารถหาผลตอบแทนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันหลักเกณฑ์ในการพิจารณาหาผลตอบแทนจะใช้วิธีคล้ายเดิม คือ นอกจากจะกำหนดมูลค่าแล้ว จะกำหนดเป็นสัดส่วนที่จะได้รับเป็นเงินก้อน หรือค่าธรรมเนียมเบื้องต้น เช่น อัตรา 30% ของมูลค่าทั้งหมดที่คำนวณมาจากผลตอบแทนแล้ว ส่วนที่เหลือก็ทยอยจ่ายเป็นรายปี แต่สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการที่ได้พัฒนามานานแล้ว และมีการต่อสัญญาใหม่ ในอนาคตจะมีการเจรจาเรื่องผลตอบแทนที่จะเป็นสัดส่วนของรายได้ที่กรมฯ ควรจะได้รับ ซึ่งจะทำให้กรมฯ มีสัดส่วนการจัดเก็บรายได้เพิ่มจากเดิมมากขึ้น" นายจักรกฤศฎิ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ของกรมธนารักษ์จะมาจากการจัดเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์จากผู้เช่ารายใหญ่ 7 ราย ซึ่งมีการจ่ายค่าเช่าเป็นมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท นอกนั้นจะต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดยผู้เช่ารายใหญ่ ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) 1,500 ล้านบาท, บมจ.ปตท. (PTT) 561 ล้านบาท, บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 200 ล้านบาท, บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) 169 ล้านบาท, บริษัท เจ้าพระยาท่าเรือสากล จำกัด 126 ล้านบาท, บริษัท เอ็น.ซี.ซี แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด 122 ล้านบาท และ บมจ.ไปรษณีย์ไทย 100 ล้านบาท

นายจักรกฤศฎิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากการบริหารจัดการที่ราชพัสดุเชิงรุกด้วยเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ให้ขึ้นมาเป็นระดับ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีแล้วนั้น กรมธนารักษ์จะมีการเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จาก บมจ.ท่าอากาศยานไทย ให้มากขึ้นจากปัจจุบันที่เก็บได้ปีละ 1,893 ล้านบาท และสัญญาเช่าดังกล่าวจะหมดอายุลงภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรองเพื่อจะปรับปรุงสัญญาค่าเช่าใหม่ให้สามารถจัดเก็บรายได้จากค่าเช่าที่ได้เพิ่มมากขึ้น, การเพิ่มรายได้จากผู้เช่าโครงการขนาดใหญ่ เช่น หมอชิต, ร้อยชักสาม, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และมักกะสัน ให้มากขึ้นรวมมากกว่า 30,000 ล้านบาทภายในเวลา 5 ปี, การผลักดันรายได้จากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อปี และการผลักดันการประมูลท่าเรือภูเก็ต ที่จะมีรายได้จากการประมูลไม่ต่ำกว่า 139 ล้านบาท เป็นต้น

พร้อมกันนี้ กรมธนารักษ์จะเร่งตรวจสอบสภาพการใช้ หรือการเช่าที่ราชพัสดุในทั่วประเทศ เพื่อให้มีการนำที่ราชพัสดุไปใช้ได้อย่างถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ และทำให้การจัดเก็บรายได้จากการเช่าที่ราชพัสดุเป็นไปอย่างถูกต้อง โดยปัจจุบันพบว่ามีการใช้ที่ราชพัสดุไม่ตรงวัตถุประสงค์ 799 แปลง ซึ่งได้มีการดำเนินการให้ถูกต้องแล้ว 74 แปลง ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น 2.19 ล้านบาท และมีการเช่าที่ราชพัสดุไม่ตรงวัตถุประสงค์อีก 3,191 ราย ได้มีการดำเนินการให้ถูกต้องแล้ว 921 ราย ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น 15.6 ล้านบาท

อธิบดีกรมธนารักษ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐว่า หลังจากที่กรมฯ ได้เปิดให้มีการประกวดราคาก่อสร้างโครงการดังกล่าวในพื้นที่ราชพัสดุทั้ง 6 แปลง ซึ่งได้แก่ กทม. 2 แปลง, เชียงใหม่ 1 แปลง, เชียงราย 1 แปลง และเพชรบุรีอีก 2 แปลงแล้วนั้น พบว่ามีภาคเอกชนรวมทั้งสิ้น 16 รายที่สนใจเข้ามาซื้อซองประกวดราคา และขณะนี้กรมฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการขึ้น เพื่อพิจารณากำหนดขอบเขตของงาน เงื่อนไขการประกวดราคา การคัดเลือกโครงการ การกำกับดูแลแผนงาน และการพิจารณากำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของภาคเอกชนที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ กำหนดให้ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถยื่นซองเสนอราคาได้ภายในวันที่ 30 มิ.ย.59 จากนั้นคณะกรรมการฯ จะใช้เวลา 1 เดือนในการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตรงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้วางไว้ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือน ก.ค.59 หลังจากนั้นเมื่อได้ผู้ชนะการประมูลแล้วจะสามารถเริ่มต้นก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐในแต่ละพื้นที่ได้ทันที โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 1 ปีครึ่ง และสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นไป

"เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกนั้น เราจะดูข้อเสนอว่าลักษณะโครงการที่ก่อสร้างนั้นมีความน่าสนใจ หรือมีความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่หรือไม่ ตลอดจนจะดูเรื่องการบริหารจัดการโครงการ โดยเฉพาะการดูแลระยะยาวทั้งในแง่ของส่วนกลาง และผู้อยู่อาศัย ความรับผิดชอบหลังการก่อสร้าง เช่น ภายหลังเข้าอยู่อาศัยแล้วโครงการมีปัญหา จะมีแนวทางรองรับในส่วนนี้อย่างไรเป็นต้น" อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี นอกจากโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐบนพื้นที่ราชพัสดุ 6 แปลง ใน 4 จังหวัดแล้ว กรมธนารักษ์ยังได้ดำเนินการสำรวจที่ดินราชพัสดุที่มีศักยภาพและเหมาะสมไว้อีก 4 แปลง เพื่อรองรับความต้องการโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐในอนาคตที่คาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ยานนาวา กรุงเทพฯ เนื้อที่ 2 ไร่, ลำลูกกา ปทุมธานี เนื้อที่ 7 ไร่, อ.เมือง ฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 44 ไร่ และ อ.พุนพิน สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 3 ไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ