พณ.แนะผู้ส่งออกอาหารคำนึงสุขภาพผู้บริโภค หลังองค์กรในอังกฤษจี้รัฐให้ความสำคัญตามเป้า WHO

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday June 19, 2016 09:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยรายงานสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรว่า กลุ่มองค์กรพันธมิตรด้านอาหารของสหราชอาณาจักร ประกอบด้วย 12 สมาชิกองค์กรได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรออกมาตรการให้บริษัทผู้ผลิตอาหารลดสัดส่วนการใส่เกลือและน้ำตาลในสินค้า/ผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งจำกัดการเป็นสปอนเซอร์ของสินค้าดังกล่าวในกีฬาต่างๆ เพื่อยับยั้งอัตราการเสียชีวิตของชาวอังกฤษในกลุ่มที่ป้องกันได้จำนวน 250,000 คน ภายในปี 2568 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายขององค์กรอนามัยโลก(WHO) ในการลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรก่อนวัยอันควรให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปี 2568

สหราชอาณาจักร ถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย (อันดับ 6 ของตลาดส่งออกทั้งหมด) โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญ อาทิ ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ข้าวและสิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น ในขณะที่ผู้บริโภคสหราชอาณาจักรได้ให้ความสำคัญกับสินค้าออร์แกนิกและอาหารที่มีวัตถุดิบหลักจากธรรมชาติและดีต่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงผลักดันของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)ด้านอาหารที่สร้างความตระหนักและเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการกับบริษัทที่ผลิตอาหารที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างจริงจัง

"ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย จึงควรพัฒนาสินค้าอาหารที่เป็นประโยชน์และคำนึงต่อสุขภาพและหลีกเลี่ยงการใช้สารปรุงแต่งรสในอัตราที่ไม่เหมาะสม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคสหราชอาณาจักร ในขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสของสินค้าออร์แกนิกของไทยที่จะขยายตลาดในสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น" อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในด้านของการจำกัดการเป็นสปอนเซอร์ของสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีเกลือและน้ำตาลสูงนั้น หากรัฐบาลของสหราชอาณาจักรออกมาตรการและเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่เข้าร่วมเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรฟุตบอลของอังกฤษ ซึ่งจะส่งผลต่อกลยุทธ์การตลาดในการขยายสินค้าแบรนด์ไทยในสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ กลุ่มองค์กรพันธมิตรฯ ระบุว่า การออกมาตรการเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากจะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน และโรคเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ กลุ่มองค์กรดังกล่าวยังได้เรียกร้องให้มีการสั่งห้ามโฆษณาสินค้าแอลกอฮอล์ และการระงับการโฆษณาสินค้าอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมัน เกลือ และน้ำตาลในระดับสูงทางโทรทัศน์ก่อนเวลา 21.00 น. ซึ่งสื่อโฆษณาเหล่านั้น มีอิทธิพลและกระตุ้นให้เกิดการบริโภคแคลอรี่จำนวนมากที่นำไปสู่โรคอ้วน

ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอาหารของสหราชอาณาจักร ได้โต้แย้งข้อเสนอของกลุ่มองค์กรพันธมิตรด้านอาหารฯ ว่า เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น และการจำกัดการเป็นสปอนด์เซอร์ของบริษัท อาจนำไปสู่การท้าให้คนไม่หันมาออกกำลังกายสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ