คณะผู้บริหารเหมืองแร่ทองคำอัคราฯเข้าพบรมว.อุตสาหกรรม วอนขอความเป็นธรรมกรณีคำสั่งให้ปิดเหมืองสิ้นปี 59

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 21, 2016 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกรก ฟาวลิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อัครา รีซอร์สเซส พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากบริษัทฯ ได้เดินทางเข้าพบนางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ในวันนี้ เพื่อสอบถามถึงความชัดเจน และความเป็นธรรมกรณีมีคำสั่งให้ปิดเหมืองแร่ทองคำชาตรีภายใน 31 ธันวาคม 2559 นี้ เนื่องจากบริษัทในฐานะผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่ดำเนินการด้วยมาตรฐานการผลิตและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากล และยังเป็นเหมืองแร่ทองคำแห่งเดียวที่ยังคงเปิดดำเนินการอยู่ในประเทศไทย รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากบริษัทดำเนินงานตามมาตรฐานสากล และปฏิบัติตามกฏระเบียบต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดเสมอมา

ทั้งนี้ บริษัทขอความชัดเจนกรณีอายุประทานบัตรที่ยังคงเหลืออยู่ และภาระผูกพันต่อเนื่องหลังจากใบอนุญาตประกอบโรงโลหกรรมที่ได้รับการต่ออายุถึงเพียงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ได้หมดอายุลง รวมถึงขอความเป็นธรรมกรณีการต่อใบอนุญาตประกอบโรงโลหกรรมที่ได้รับการต่ออายุถึงเพียงสิ้นปี 2559 ทั้งที่บริษัทได้ปฏิบัติตามกฏระเบียบตามพ.ร.บ.แร่ อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด เหตุใดจึงต่ออายุโรงประกอบโลหกรรมดังกล่าวถึงเพียงวันที่ 31 ธันวาคม 2559

โดยบริษัทได้ขอความเห็นใจและสอบถามถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว และให้ใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรมได้รับการต่ออายุไปอีก 5 ปี พร้อมทั้งขอวิงวอนให้ภาครัฐพิจารณาข้อมูลทุกด้านอย่างเป็นธรรม และโปร่งใส

"บริษัทชี้แจงให้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ทราบว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นกับ บมจ. อัครา รีซอร์สเซส ในขณะนี้ ทำให้ได้รับความสนใจในระดับสากลจากกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านกฏหมาย วิทยาศาสตร์ การลงทุน ที่คอยศึกษา และติดตามผลการตรวจสอบและดำเนินการอยู่...บริษัทใคร่ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากบริษัทยืนยันเสมอว่าบริษัท คือบริษัทธรรมาภิบาลที่ดำเนินการด้วยความรับผิดชอบต่อประชาชน ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศเสมอมา"เอกสารเผยแพร่ของอัคราฯ ระบุ

บริษัทตั้งข้อสังเกตว่าจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในชุมชน โดยหน่วยงานอิสระพบว่าประชาชนมากกว่า 80% ต่างให้การสนับสนุนเหมืองแร่ทองคำชาตรี ซึ่งได้แจ้งต่อรมว.อุตสาหกรรมให้ทราบว่าประชาชนรอบเหมืองจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริงจากคำสั่งปิดเหมืองดังกล่าว หรืออาจกล่าวได้ว่าประชาชนในพื้นที่ประกอบการจะเสียโอกาสในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ