(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออก พ.ค.หดตัว -4.40%, นำเข้าขยายตัว 0.50%, เกินดุลการค้า 1,538 ล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 24, 2016 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือนพ.ค.59 การส่งออกยังหดตัวต่อเนื่อง -4.40% มาที่ 17,617 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้า ขยายตัว 0.50% มาที่ 16,079 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลดุลการค้า พ.ค. เกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน มีมูลค่า 1,538 ล้านเหรียญสหรัฐ

"การส่งออกของไทยได้รับอิทธิพลจากกระแสการค้าโลกในช่วงที่ผ่านมาที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวและไม่แน่นอนสูง ซึ่งกระทบกำลังซื้อและการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันยังหดตัวสูงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค.ยังคงหดตัว"นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าว

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องตามการลดลงของปริมาณการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งนี้ การลดลงปริมาณการส่งออกมีปัจจัยสำคัญจากปัญหาภัยแล้งและความต้องการนำเข้าของตลาดสำคัญลดลง โดยเฉพาะจีน ในขณะที่ราคาส่งออกลดลงตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมเดือนพฤษภาคม 2559 มูลค่าส่งออกลดลง 7.4% (YoY)

สินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลงได้แก่ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาล (ลดลง 24.2% 9.0% 36.0% และ 11.3% ตามลำดับ) โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาส่งออกที่ลดลงตามราคาสินค้าเกษตรโลก และการลดลงของปริมาณส่งออกตามผลผลิตที่ได้ผลกระทบจากภัยแล้งและความต้องการนำเข้าที่ลดลงของของตลาดสำคัญ โดยเฉพาะจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลไม้สดแช่แข็งไปจีน กุ้งสดแช่แข็งและผลไม้กระป๋องแปรรูปไปสหรัฐอเมริกา และเครื่องดื่มไปตลาด CLMV รวม 5 เดือนแรก การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 3.2%

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม แม้ยังหดตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนนี้ ในขณะที่ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อการหดตัวอย่างต่อเนื่องของสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยภาพรวมเดือนพ.ค.59 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 2.8% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ประเภทฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟสำหรับเครื่อง PC) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องรับโทรทัศน์ฯ และผลิตภัณฑ์ยาง (หดตัว 12.5%, 18.0%, 21.4%, และ 17.0% ตามลำดับ)

อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ (ไปตลาดเวียดนามและออสเตรเลีย) รถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งกลับมาขยายตัวที่ 4.6% (โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย อาเซียน และตะวันออกกลาง) และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟสำหรับระบบ Cloud ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการปรับตัวของเทคโนโลยี รวม 5 เดือนแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 0.3%

ตลาดส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา CLMV ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ เริ่มกลับมาขยายตัว ในขณะที่การส่งออกไปตลาดจีน และอาเซียน(5) ยังหดตัวตามภาวะชะลอตัวของสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเป็นสำคัญ โดยภาพรวมเดือนพฤษภาคม 2559 ตลาดส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ขยายตัวที่ 3.4%) ตามการฟื้นตัวของการจ้างงานและส่งผลต่อการบริโภคในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก คอมพิวเตอร์ กลุ่มส่วนประกอบรถยนต์ ยางรถยนต์ และอาหาร ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง CLMV และเอเชียใต้ ที่ขยายตัว 7.0% 4.2% 1.0% และ 2.9% ตามลำดับ

ส่วนตลาดส่งออกที่หดตัว ได้แก่ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) โดยหดตัวต่อเนื่องที่ 8.6% และ 2.7% ตามลำดับ โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีความชัดเจน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคในประเทศ รวมทั้ง จีน และอาเซียนเดิม (5) ที่หดตัวต่อเนื่องตามการลดลงของราคาส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ด้านการค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนพ.ค. 59 ขยายตัวต่อเนื่อง โดยการค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา เดือนพ.ค. 59 มีมูลค่า 82,982 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.96%) รวม 5 เดือนแรกมีมูลค่า 419,883 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3.38%) ได้ดุลการค้าชายแดน 84,468 ล้านบาท ในขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนพ.ค.59 มีมูลค่า 13,224 ล้านบาท (ขยายตัว 15.22%) รวม 5 เดือนแรกมีมูลค่า 62,058 ล้านบาท (ขยายตัว 13.60%) ขาดดุลการค้า 2,277 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมการค้าชายแดน และผ่านแดน เดือนพ.ค.59 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 96,206 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6.26%) รวม 5 เดือนแรก มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 481,942 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.59%

ขณะที่ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 59 (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 86,991 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -1.90% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 75,543 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -10.25% ส่งผลให้ 5 เดือนแรกเกินดุลการค้า 10,448 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ของไทยในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญยังอยู่ในระดับที่ดี การนำเข้ากลุ่มวัตถุดิบและเครื่องจักรมีสัญญาณและแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามการปรับตัวของราคาน้ำมัน ส่งผลให้แรงกดดันด้านราคาส่งออกมีแนวโน้มลดลง ชี้ว่าการส่งออกของไทยเริ่มปรับตัวเข้าสู่ทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีจะปรับตัวได้ดีขึ้นตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ