นายกฯ เผยรัฐบาลพร้อมหามาตรการส่งเสริม-ปรับปรุงกม. ช่วยเหลือ SMEs ให้เป็นกลไกขับเคลื่อนศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 27, 2016 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบนโยบายแก่สถาบันการเงินและผู้ประกอบการ SMEs ในงาน “สานพลัง SMEs พลิกฟื้นยืนได้ใส่ใจผู้ประกอบการ" ภายใต้กิจกรรมในโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเอสเอ็มอีคิดเป็น 90% ของธุรกิจทั้งหมด โดยรัฐบาลต้องการผลักดันให้กลุ่มเอสเอ็มอีสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หรือบริษัทข้ามชาติได้ และมองเห็นถึงความสำคัญของเอสเอ็มอีที่จะมีส่วนช่วยในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ เกิดการจ้างงานใหม่ๆ และหวังใหัช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงถือว่างานที่ทำเป็นการปฏิรูปและปฏิวัติเอสเอ็มอี และเรื่องนี้เป็นถือวาระแห่งชาติที่จะต้องเร่งให้ความสำคัญเดินหน้าไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

ทั้งนี้ภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกับรัฐบาลในการวางแผนร่วมกันว่าจะเดินหน้าพัฒนา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกลับไปทบทวนการทำงานของตนเองว่าเกิดอุปสรรคในการช่วยขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งต้องหาทางในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อพลิกฟื้นให้เอสเอ็มอีสามารถยืนได้ เช่น หากพบว่ามีกฎหมายที่ทำให้การพัฒนาของเอสเอ็มอีลดลง หรือเป็นอุปสรรค จะต้องเร่งแก้ไขปัญหานั้นอย่างจริงจัง และรัฐบาลพร้อมร่วมมือในการผลักดันให้เอสเอ็มอีมีความสำคัญในกลุ่มอาเซียน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายที่จะพยายามเร่งผลักดันอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียน การหาตลาด การใช้นวัตกรรม การออกแบบ การค้าขายอิเล็กทรอนิกส์ การให้ความรู้และการคุ้มครองทางกฏหมาย ซึ่งปัจจุบันจากปัญหาเศรษฐกิจที่ไมาเข้มแข็งไม่มีการต่อยอดด้านนวัตกรรม ส่งผลทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ จึงจำเป็นต้องเร่งการปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความทันสมัย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงลดต้นทุนการผลิตได้

ในส่วนของ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ พ.ศ.2559 นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เดินหน้าต่อไปได้ แต่ไม่ใช่ลักษณะของการหนีหนี้ แต่เอสเอ็มอีก็ต้องปรับตัวพัฒนาสินค้าให้แข่งขันกับคนอื่นได้ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการพัฒนาตามภูมิภาค เพื่อให้คนในพื้นที่มีงานทำไม่ต้องเข้ามาหางานในกรุงเทพฯ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากยังไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้ง ทุกอย่างก็จะถอยกลับไปอยู่ที่เดิม การที่ตนเองใช้กฎหมายพิเศษ มาตรา 44 ก็เพื่อต้องการขับเคลื่อนข้าราชการ ให้พัฒนาไปสู่การปฏิรูป โดยหวังว่า ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ทหารเข้ามาควบคุมอำนาจ เพราะถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บริหารประเทศได้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ก็เชื่อว่า ทหารจะไม่เข้ามา พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ได้รังแกใคร ซึ่งก็ให้เกียรติข้าราชการที่ทำงานจะต้องมีศักดิ์ศรี ต้องซื่อสัตย์จริตโปร่งใส แม้ว่าที่ผ่านมาข้าราชการถูกฝ่าย การเมืองล้วงลูก แต่รัฐบาลชุดนี้จะไม่ทำแบบนั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ