ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบ WTI สัปดาห์นี้ทรงตัวระดับสูงต่อ ให้กรอบ 44-49 เหรียญ/บาร์เรล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 18, 2016 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไทยออยล์ (TOP) คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ในสัปดาห์นี้ (18 - 22 ก.ค. 59) จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 44 – 49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 45 – 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันนานกว่า 9 สัปดาห์ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็มีแนวโน้มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป นอกจากนี้สถานการณ์โจมตีแหล่งผลิตน้ำมันดิบของไนจีเนียยังคงสร้างความกังวลต่อตลาดน้ำมันด้วย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับสูงขึ้นใกล้ระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีกครั้ง สะท้อนจากรายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ได้แก่

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ คงปริมาณการกลั่นอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องใช้น้ำมันในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 7 ก.ค. ปรับลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่เก้าติดต่อกัน สู่ระดับ 521.8 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 0.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 63.9 ล้านบาร์เรล
  • ค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงและอาจส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมันดิบ หลังการเลือกตั้งสภาสูงของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา พรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (LDP) ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะ ชนะด้วยคะแนนเสียงค่อนข้างมาก ซึ่งในเร็วๆ นี้นายกรัฐมนตรี ชินโซะ อะเบะ ได้เตรียมที่จะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และตลาดคาดการณ์ว่าในการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นสิ้นเดือน คณะกรรมนโยบายการเงินของญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะออกนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมตามนโยบายของอะเบะที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจยังชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) วันที่ 26-27 ก.ค. นี้
  • จับตาสถานการณ์การผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย หลังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่ม Niger Delta Avengers ยังคงเดินหน้าโจมตีแหล่งผลิตและท่อขนส่งน้ำมันดิบต่อเนื่อง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธได้กล่าวอ้างว่ามีการโจมตีท่อขนส่งน้ำมันดิบ Que Iboe ของบริษัท Exxon Mobil และ หนึ่งในท่อขนส่งน้ำมันดิบ Bonny Light ของบริษัท Shell ซึ่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตยังคงไม่แน่ชัด จากข้อมูลล่าสุด รัฐบาลไนจีเรียคาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 30 วันที่ประมาณ 1.34 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ประมาณ 1.8 – 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังสามารถทำการซ่อมแซมท่อขนส่งน้ำมันดิบที่ถูกโจมตีไปเมื่อเดือนก่อนให้สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามเดิม
  • ระดับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้ระดับต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ผลิตบางรายในสหรัฐฯ เริ่มคุ้มทุนที่จะกลับมาดำเนินการผลิตใหม่และเพิ่มปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบ โดยเฉพาะในแหล่งการผลิต Permian โดยจากรายงานล่าสุดของ Baker Hughes พบว่าปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ณ วันที่ 1 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 10 แท่น มาอยู่ที่ระดับ 351 แท่น ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังเริ่มที่จะมีการเริ่มดำเนินการผลิตในหลุมน้ำมันที่ขุดไว้แล้วแต่ยังไม่ได้การผลิต (Drilled but Uncompleted Wells หรือ DUCs )
  • สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุในรายงานประจำเดือน มิ.ย. ว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่ยังคงอยู่ในระดับสูงส่งผลกดดันต่อการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน โดยปริมาณน้ำมันคงคลังเชิงพาณิชย์ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในเดือน พ.ค. ปรับตัวสูงขึ้น 13.5 ล้านบาร์เรลสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3,074 ล้านบาร์เรล และตัวเลขคาดการณ์ในเดือน มิ.ย. ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบที่เก็บในเรือ (Floating Storage) ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนที่อยู่อาศัยที่กำลังก่อสร้างสหรัฐฯ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐฯ และดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ