(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยมิ.ย. ส่งออกหดตัว -0.1% นำเข้าหด -10.1% เกินดุล 1,965 ล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 27, 2016 13:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน มิ.ย. 59 การส่งออกมีมูลค่า 18,146 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.1% จากตลาดคาด -1.5 ถึง -2.6% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 16,181 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -10.1% ส่งผลให้ดุลการค้า มิ.ย.เกินดุล 1,965 ล้านเหรียญสหรัฐ

การส่งออกของไทยเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและหดตัวต่ำสุดในรอบ 3 เดือน แต่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นไปอย่างเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรและน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ

โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในขณะที่สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังหดตัวอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยภาพรวมเดือนมิ.ย.59 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 3.1% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 26.6% (ส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และจีน) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 6.2% (ส่งออกไปตลาดฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และจีน) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 13.4% (ส่งออกไปตลาดเวียดนาม ออสเตรเลีย และอินเดีย) และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ขยายตัว 0.2% (ส่งออกไปตลาดฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) ในขณะที่ สินค้าสำคัญที่หดตัวต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ (หดตัว 24.8% 26.3% 9.9% 1.2% และ 2.2% ตามลำดับ) รวม 6 เดือนแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 0.3%

ทั้งนี้ ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.59) การส่งออกหดตัว -1.6% โดยมีมูลค่า 105,137 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลง -10.2% มูลค่า 92,724 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดุลการค้าเกินดุล 12,413 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ด้านตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และเอเชียใต้ โดยขยายตัว 56.1% 4.7% และ 3.1% ตามลำดับ ในขณะที่สหภาพยุโรป (15) กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ที่ 0.9% เป็นผลจากสถานการณ์และมาตรการทางเศรษฐกิจที่มีส่วนกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่ตลาดอาเซียน (9) จีน และญี่ปุ่น ยังหดตัวต่อเนื่อง ตามภาวะชะลอตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมทั้งความไม่ชัดเจนของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยหดตัว 16.9% 11.9% และ 3.8% ตามลำดับ รวม 6 เดือนแรก ตลาดที่ขยายตัว ได้แก่ ออสเตรเลีย (8.9%) ในขณะที่ตลาดอื่นๆ ยังหดตัว

ด้านการค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนมิ.ย. 59 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยการค้าชายแดน (ระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) มีมูลค่า 81,240 ล้านบาท (ลดลง 1.9%) ในขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) มีมูลค่า 11,772 ล้านบาท (ลดลง 2.5%) รวมการค้าชายแดนและผ่านแดนมีมูลค่าทั้งสิ้น 93,011 ล้านบาท (ลดลง 1.9%)

รวม 6 เดือนแรก การค้าชายแดนมีมูลค่า 502,226 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2.6%) ได้ดุลการค้าชายแดน 99,257 ล้านบาท การค้าผ่านแดนมีมูลค่า 73,830 ล้านบาท (ขยายตัว 10.7%) ขาดดุลการค้า 3,745 ล้านบาท รวมการค้าชายแดนและผ่านแดนมีมูลค่าทั้งสิ้น 576,056 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3.6%)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในตลาดส่งออกสำคัญเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และประเทศสำคัญในเอเชียใต้ การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์และวัตถุดิบอุตสาหกรรมสำคัญที่มีแนวโน้มดีขึ้น รวมทั้ง ราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามการปรับตัวของราคาน้ำมันเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้คาดว่า การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี จะปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การส่งออกของโลกแล้ว ถือว่าไทยยังอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศ โดยมีอัตราการส่งออกอยู่ในกลุ่มที่หดตัวต่ำที่สุดของโลก อีกทั้งยังมีส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้นในเกือบทุกตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ