(เพิ่มเติม1) กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ประเมินเศรษฐกิจยังฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 3, 2016 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ในระยะข้างหน้าจะมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเฟ้ออาจกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อย เพราะแรงกดดันจากราคาพลังงานที่อาจต่ำกว่าคาด

ส่วนภาวะการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

"กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ในระยะข้างหน้าจะมีความเสี่ยงมากขึ้นที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่าเป้าหมายที่ 3.1% โดยที่ประชุม กนง.ครั้งนี้ได้ให้ปัจจัยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งการประชุมครั้งนี้พูดถึงปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศเยอะ ทั้งในภูมิภาคเอเชียและยุโรป เช่น ความไม่แน่นอนภายหลัง Brexit แต่ก็ยังมองว่าจะไม่ส่งผลต่อไทยในระยะสั้น 1-2 ปี ปัญหาภาคการเงินในยุโรป ขณะที่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินเยนญี่ปุ่นก็ไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศเหล่านั้น" เลขานุการ กนง.ระบุ

ทั้งนี้ กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามแรงขับเคลื่อนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ต่อเนื่องตามคาด และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ตามรายได้และความเชื่อมั่นของครัวเรือนในภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น แต่การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกสินค้ายังหดตัวตามเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงมากกว่าคาด

ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน อาทิ ความไม่แน่นอนภายหลังการลงประชามติในสหราชอาณาจักร (Brexit) ปัญหาภาคการเงินในยุโรป และพัฒนาการทางการเมืองในต่างประเทศ ซึ่งอาจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป ในขณะที่ความเสี่ยงในภาคการเงินจีนยังมีอยู่

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.ชะลอลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสดเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แต่ระยะเวลาอาจเลื่อนออกไปบ้าง ขึ้นอยู่กับทิศทางของราคาน้ำมันโลกเป็นสำคัญ

กนง.เห็นว่าภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ และการระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจและสินเชื่อครัวเรือนยังขยายตัวได้ แม้ธุรกิจบางกลุ่มมีข้อจำกัดในการได้รับสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักบางสกุล และอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ กนง.เห็นว่ายังคงต้องติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) จากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน

กนง.เห็นว่าการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ยังมีความสำคัญ เพราะในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น

ในระยะต่อไป กนง.เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า กนง.หารือถึงสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่จะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ซึ่งคงต้องรอผลการลงประชามติออกมาก่อน แต่ประเมินว่าคงไม่มีผลกระทบในระยะสั้น เนื่องจากภาคธุรกิจและเอกชนไม่ได้แสดงความกังวลเป็นพิเศษ ไม่ว่าผลจะออกมารับหรือไม่รับ แต่ กนง.จะติดตามสถานการณ์การเมืองหลังทราบผลอย่างเป็นทางการแล้ว อย่างไรก็ตาม การปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจ กนง.พิจารณาความเสี่ยงจากผลกระทบเศรษฐกิจจากต่างประเทศเป็นหลัก

นอกจากนี้ กนง.ยังให้ความเป็นห่วงเรื่องเงินลงทุนภาคเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีตมาก เพราะการลงทุนภาคเอกชนจะช่วยเพิ่มการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความสามารถการแข่งขันของไทยได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าการลงทุนภาคเอกชนผูกติดกับการส่งออก ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า และการส่งออกยังหดตัว การลงทุนภาคเอกชนจึงยังไม่เร่งตัวขึ้น

สำหรับกรณีเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าประเทศไทย ส่งผลกระทบให้เงินบาทแข็งค่านั้น กนง.ได้มีการหารือและเห็นว่าสาเหตุที่เงินทุนไหลเข้า เพราะต่างชาติมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง เงินทุนสำรองอยู่ในระดับสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ แต่ก็ยอมรับว่าบางช่วงเงินบาทอาจจะแข็งค่ามากเกินไปจนอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ ธปท.ก็มีเครื่องมือหลายตัวที่จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ไม่เฉพาะอัตราดอกเบี้ย ซึ่งในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุนอาจมีความผันผวนสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ