CIMBT ชี้ผลประชามติหากรับร่างรธน.ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นนลท.ทั้งใน-ตปท. แต่ไม่มีผลให้ศก.เร่งตัวขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 5, 2016 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า มุมมองผลการรับหรือไม่รับร่างประชามติรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค. นี้ จะมีผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติที่อยู่ระหว่างรอความชัดเจนทางการเมืองที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งในอนาคต ซึ่งหากผลออกมารับร่างประชามติรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้ทิศทางการเลือกตั้งที่คาดว่าจะสามารถเกิดขึ้นในปี 60 ได้ และสร้างความมั่นใจในการลงทุนของนักลงทุนชาวไทยและต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่หากผลออกมาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก ทำให้นักลงทุนอาจจะยังรอดูความชัดเจนของการเลือกตั้งและทำให้การลงทุนจะชะลอตัวออกไปอีก

อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวมองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะหากผลออกมารับร่างรัฐธรรมนูญจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นก็ตาม แต่ไม่ได้เร่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาทางด้านโครงสร้าง อย่างเช่น ปัญหาการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในระดับสูง ปัญหารายได้ของเกษตรกรตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของประชาชนฐานรากลดลง และปัญหาภัยแล้งที่ยังมีอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

"ตอนนี้ผมมองว่าคนมองข้ามว่ารับหรือไม่รับไปแล้ว ซึ่งเป็นการมองข้ามไปสู่กระบวนการของการเลือกตั้งว่าจะเป็นไปตาม Road Map หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่า แต่สิ่งที่จะมีผลจริงในเรื่องความชัดเจนทางการเมืองเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ถ้ามีความชัดเจนทางการเมืองที่แน่นอนก็ทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนเพิ่มขึ้น และการตัดสินใจลงทุนก็สามารถตัดสินใจได้เร็ว แต่หากไม่มีความชัดเจนทางการเมืองที่แน่นอนจะทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลงและการตัดสินใจลงทุนก็จะชะลอต่อไป ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยก็มองว่าหากมีความชัดเจนในเรื่องการเมืองก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นแต่ไม่ได้เร่งตัวแรง เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างกดดัน"นายอมรเทพ กล่าว

ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 2.7% แต่อาจจะมีการปรับประมาณการณ์อีกครั้งหลังจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยในวันที่ 15 ส.ค. นี้ออกมา โดยธนาคารคาดว่าตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/59 ที่สศช.จะประกาศออกมามีโอกาสต่ำกว่า 3% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงทั้งความเสี่ยงภายในและภายนอก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้ธนาคารยังมองแนวโน้มการส่งออกไทยไนปีนี้ติดลบ 4% และปี 60 ไม่ขยายตัว ประกอบกับประเด็นเรื่องอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกยังมีทิศทางไม่ดีต่อ

ส่วนปัจจัยในประเทศที่กดดันเป็นเรื่องการลงทุนของภาครัฐที่มีความล่าช้า ส่งผลให้การลงทุนของเอกชนเกิดการชะลอตัว ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการลงทุนของเอกชนติดลบมาอย่างต่อเนื่อง และไตรมาส 1/59 ได้เริ่มกลับมาเป็นบวกที่ 1.9% แต่ธนาคารยังมองแนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้อยู่ที่ 1.9%

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้ธนาคารได้ปรับประมาณการณ์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเป็น 36 บาท/ดอลลาร์ จากประมาณการณ์เดิมที่ 36.70 บาท/ดอลลาร์ แม้ว่าในช่วงนี้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเป็น 34.50 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากมีกระแสเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ หลังจากที่ธนาคารกลางต่างๆในอังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบ ทำให้สภาพคล่องในระบบปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูง แต่ธนาคารอยากให้ติดตามการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯในวันศุกร์นี้จะออกมาเป็นไปตามที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้หรือไม่ ซึ่งหากตัวเลขดังกล่าวออกมาดีจะส่งผลให้การประชุม FOMC ของสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในวันที่ 20-21 กันยายนที่จะถึงนี้ อาจจะมีการส่งสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯในเดือนธันวาคมได้ ซึ่งจะมีผลต่อกระแสเงินทุนที่ไหลออกไป และทำให้ทิศทางของค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแต่เพียงเล็กน้อย เพราะสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบยังมีอยู่ในจำนวนมาก และในส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงอยู่ที่ 1.5% ต่อปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ