(เพิ่มเติม) ผู้ว่าธปท.มองศก.ไทยกระเตื้องขึ้นแต่ยังเปราะบาง-ไม่กระจายตัว เตือนปัญหาเชิงโครงสร้างออกอาการ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 8, 2016 13:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการเชิงสังเคราะห์ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ"ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยประสบกับความผันผวนอย่างต่อเนื่องทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งแม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นและความผันผวนจะลดลง แต่การฟื้นตัวยังไม่กระจายตัวไปทุกภาคส่วนและยังมีความเปราะบาง

ทั้งนี้ การมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นอาจทำให้ละเลยปัญหาที่ใหญ่และหนักกว่า นั่นคือ ปัญหาในเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่นับวันจะแสดงอาการออกมามากขึ้น โดยพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในอดีตสามารถขยายตัวได้สูงถึง 7-8% ต่อปี แต่หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลต่ำลงมาเหลือเพียงปีละ 3-4% จนดูเหมือนกลายเป็น new normal ของอัตราการขยายตัวไปแล้ว

"รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยที่ในอดีตเคยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันกลับถูกหลายประเทศที่เคยตามหลังเรา แซงหน้าไปแล้ว ภาวะเช่นนี้เรียกว่าการติดกับดับรายได้ปานกลาง สะท้อนให้เห็นว่าการชะลอลงของเศรษฐกิจไทยในระยะหลัง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาวัฎจักรเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ฝังลึกมานานและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง"ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

ผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างหลายจุดทั้งการขาดการลงทุนมาเป็นเวลานาน เทคโนโลยีการผลิตล้าหลัง ขาดแคลนแรงงานทักษะสูง ระบบการศึกษาไทยที่ด้อยคุณภาพ เชื่อว่าปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้คงไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาสั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม และทำงานเชิงรุกเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยหลุดจากการติดหล่มในเชิงโครงสร้างต่าง ๆ และปลดล็อคเศรษฐกิจไทยให้สามารถก้าวข้ามไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงและยั่งยืนได้

ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งการใช้โมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเก่าอาจไม่สามารถช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักนี้ไปได้ รวมทั้งยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้เช่นกัน ซึ่งประเทศไทยจะต้องมีโมเดลใหม่เพื่อให้เกิดแนวคิดหรือวิธีการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่เพื่อนำพาประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไปนัก

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนจากโมเดลเก่ามาสู่โมเดลใหม่ ก็เพื่อการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจใน 4 ด้านที่สำคัญ คือ การพัฒนาคน นโยบายอุตสาหกรรมและบทบาทภาครัฐ การจัดการเชิงสถาบัน และการพัฒนาสีเขียว

"การจะหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ถ้าทำอย่างจริงจังภายใน 5 ปีมีโอกาสหลุดพ้นแน่ แต่เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำอาจจะต้องใช้เวลานาน เพราะเป็นปัญหาของโครงสร้างพื้นฐาน"นายสมชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ