(เพิ่มเติม) KBANK มองแนวโน้มเงินบาทแข็งค่าหลังคลายกังวล Brexit-ทุนไหลเข้า คาดกนง.คงดอกเบี้ยถึงสิ้นปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 11, 2016 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวถึงทิศทางค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยในปี 59 โดยคาดว่าเงินบาท ณ สิ้นปีนี้จะแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 35.50 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ที่ระดับ 36.20 บาท/ดอลลาร์ ส่วนในปี 60 คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 36.00 บาท/ดอลลาร์

การที่ธนาคารปรับคาดการณ์เงินบาทในปีนี้ว่าจะแข็งค่าขึ้นนั้น เป็นเพราะตลาดคลายความกังวลจากการที่อังกฤษเลื่อนประกาศใช้ มาตรา 50 ตามความตกลงลิสบอน หลังจากที่ตัดสินใจแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) โดยผลกระทบที่เกิดจาก Brexit อาจจะไปได้เห็นในปีหน้ามากกว่าจะเป็นในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนั้น ขณะนี้ยังมีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดเอเชียมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ออกไป จึงทำให้นักลงทุนนำเงินกลับเข้ามาลงทุนในตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ซึ่งทำให้ price to book ของตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับกลุ่มตลาดประเทศพัฒนาแล้ว

ส่วนประเด็นความเสี่ยงเรื่องจากปัจจัยในประเทศกรณีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านพ้นไปแล้ว ทำให้มีความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะกรอบเวลาของการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 60 น่าจะเป็นผลดีต่อประเทศทั้งในแง่ความต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเชื่อว่าการใช้จ่ายภาครัฐจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากการบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ราว 3% และจากการที่เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น จึงน่าจะเป็นการลดแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องลดดอกเบี้ยลงอีก โดยคาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.5% ไปถึงสิ้นปีนี้

นายกอบสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า การที่ปรับประมาณการเงินบาทของปีนี้แข็งค่าจากเดิม ไม่ได้หมายความว่าในระยะยาวเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่า เพราะสิ่งที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของตลาดเกิดใหม่คือ ดอกเบี้ยของสหรัฐ แต่สิ่งที่จะสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดได้อย่างชัดเจนว่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าอย่างแท้จริงนั้น คงต้องดูจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ เนื่องจากดอลลาร์สิงคโปร์ถือว่าปราศจากการถูกแทรกแซงมากที่สุด

"ประเทศที่มีเครดิตเรทติ้งที่ไม่น่าวิตกกังวลมากนัก ก็เป็นสิงคโปร์ เพราะไม่มีปัจจัยเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการจะเอามาเป็นดัชนีชี้วัดได้ น่าจะดูจากสิงคโปร์ดอลลาร์ได้"นายกอบสิทธิ์กล่าว

ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ที่ธนาคารฯ ยังคงไว้ที่ระดับ 3% นั้น ก็ยังมีโอกาสจะปรับลดลงได้อีก หากเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นไปมากกว่าปัจจุบัน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงอีก ทั้งนี้ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากกว่านี้ก่อน

ด้านน.ส.ปารีณา พ่วงศิริ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากความกังวลเรื่อง Brexit ที่ผ่อนคลายลงในเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะปฏิกิริยาจากตลาดการเงินที่ดีกว่าคาด จึงทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาปรับประมาณการโลกในมุมที่ไม่ได้แย่ลงมากนัก โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบเพียง 0.1% จากประมาณการเดิม โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัว 3.1% และปีหน้าที่ 3.4% และมองว่าผลกระทบของ Brexit ส่วนใหญ่จะไปอยู่ในปีหน้าหลังจากที่เริ่มมีการเจรจาออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ

สำหรับนโยบายการเงินนั้น ธนาคารกลางอังกฤษได้ออก 4 มาตรการ เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจรวมถึงจิตวิทยาของนักลงทุน ซึ่งถือว่ามาตรการของอังกฤษได้รับแรงตอบรับที่ดี แต่ในทางตรงกันข้ามาตรการจากธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมถึงมาตรการด้านการคลังจากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความประทับใจให้ตลาดได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคาดหวังของนักลงทุนในระดับสูง ซึ่งประเด็นนี้สร้างความเสี่ยงให้แก่เศรษฐกิจเพิ่มเติม เนื่องจากเงินเฟ้อเริ่มกลับมาลดลงอีกครั้ง และออกห่างเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น ขณะที่เงินเยนแข็งค่ายังไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ

น.ส.ปารีณา กล่าวว่า แม้ประเทศหลักๆ ยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง แต่ทุกคนกลับมองว่าสหรัฐอาจจะเริ่มกลับมาคิดเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่งตัวเลขของสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคภาคเอกชน และตลาดแรงงานเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้ แม้จะมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี จากความเสี่ยงเรื่องการเมืองจึงเชื่อว่ายังไม่น่าจะได้เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดภายในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ